ขาดวิตามินดี (Vitamin D Deficiency) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับวิตามินดีในร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรค ภาวะผิดปกติ หรือปัญหาทางด้านสุขภาพต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหากระดูกเปราะ กระดูกผิดรูป โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) หรือโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) ในผู้ใหญ่
วิตามินดีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมันที่ร่างกายจะสังเคราะห์ขึ้นมาหลังจากที่ผิวหนังได้รับรังสียูวีบี (UVB) จากแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดในช่วง 10 โมงเช้า–บ่าย 3 โมง โดยวิตามินดีมีความสำคัญต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ดูดซึมแคลเซียม รวมถึงมีความสำคัญต่อระบบการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Glands)
นอกจากนี้ วิตามินดียังอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคความดันสูง เบาหวาน การติดเชื้อ โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ไปจนถึงโรคมะเร็งบางชนิด
ขาดวิตามินดี ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ
ในกรณีผู้ใหญ่ ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดีโดยส่วนใหญ่มักไม่พบสัญญาณผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย หรืออาจพบอาการบางอย่างที่มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ซึมเศร้า วิตกกังวล น้ำหนักขึ้น เจ็บป่วยง่าย แผลหายช้า ผมร่วง
ส่วนในกรณีเด็ก ภาวะขาดวิตามินดีอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น ฟันขึ้นช้า หงุดหงิดง่าย เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ ชัก หรือในกรณีที่รุนแรงอาจส่งผลให้เด็กเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) ได้
นอกจากนี้ การขาดวิตามินดีในเด็กขั้นรุนแรงยังอาจนำไปสู่การเกิดโรคกระดูกอ่อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีกระดูกบริเวณกะโหลกศีรษะหรือขานิ่มผิดปกติ กระดูกขาโก่ง ปวดกระดูก โดยเฉพาะกระดูกบริเวณขา ข้อต่อต่าง ๆ ผิดรูป เจริญเติบโตช้ากว่าเด็กรุ่นเดียวกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ
และในกรณีเด็กเล็ก การขาดวิตามินดีอาจส่งผลให้เด็กมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง หายใจลำบาก หรืออาจเกิดอาการชักได้
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดี
ภาวะขาดวิตามินดีมักพบได้มากในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น
- ผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการสร้างวิตามินดีของผิวหนังและกระบวนการเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปแบบออกฤทธิ์ของไตจะเริ่มลดลง
- ทารก เนื่องจากในอาหารหลักของทารก อย่างนมแม่หรือนมสำหรับเด็กจะมีปริมาณวิตามินดีที่ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ทารกมักได้รับวิตามินดีในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป เนื่องจากไขมันในร่างกายจะไปจับกับวิตามินดีจนส่งผลให้มีวิตามินดีเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง
- ผู้ที่มีผิวเข้ม เนื่องจากเม็ดสีเมลานิน (Melanin) จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดของผิวหนังลดลง
- ผู้ป่วยโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคโครห์น (Crohn's Disease) และโรคเซลิแอค (Celiac Disease) เนื่องจากโรคในกลุ่มนี้มักส่งผลให้ลำไส้ของผู้ป่วยดูดซึมวิตามินดีได้น้อยลง
- ผู้ป่วยโรคตับและโรคไต โรคตับและโรคไตเป็นโรคที่ส่งผลให้ระดับเอนไซม์ในร่างกายที่มีหน้าที่เปลี่ยนวิตามินดีไปใช้ลดน้อยลง
- ผู้ที่ผ่าตัดลดความอ้วน เนื่องจากในการผ่าตัดลดความอ้วนบางประเภท แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงวิตามินดีได้น้อยลง
- ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินดีส่วนใหญ่มักเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย สเตียรอยด์ ยาลดไขมันในเลือด ยากันชัก ยารักษาวัณโรค ยาต้านเชื้อรา ยารักษาโรคเอดส์ ยาลดความอ้วน
- ผู้ที่ผิวหนังไม่ค่อยได้รับแสงแดด เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มักอยู่ในที่ร่ม ผู้ที่มักสวมเสื้อและกางเกงขายาว หรือผู้ที่ทาครีมกันแดดเป็นประจำ
วิธีป้องกันภาวะขาดวิตามินดี
ปริมาณความต้องการวิตามินดีในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงอายุหรือสุขภาพโดยรวม โดยในเบื้องต้น การป้องกันภาวะขาดวิตามินดีในผู้ที่ไม่ได้มีภาวะขาดวิตามินดีสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการรับแสงแดดให้ได้ประมาณ 15–20 นาที ประมาณ 3 วัน/สัปดาห์
นอกจากนี้ แม้วิตามินดีจะพบได้น้อยในอาหาร แต่การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีก็ถือว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินได้เช่นกัน โดยอาหารที่มีวิตามินดีจะสามารถหาได้จากไข่แดง ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า เนื้อวัว ตับ และผลิตภัณฑ์จากนมวัวบางชนิดที่มีการเสริมวิตามินดีเข้าไป
ส่วนผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดีหรือเห็นว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินดีมารับประทานเอง เนื่องจากการรับประทานวิตามินดีที่มากเกินความต้องการของร่างกายอาจส่งผลเสียได้ เช่น ภาวะวิตามินดีเป็นพิษ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หรือไตเกิดความเสียหาย เป็นต้น