ขาดวิตามินบี อาการเป็นแบบไหน

ขาดวิตามินบี เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับวิตามินบีในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีไม่เพียงพอ หรือการที่ร่างกายมีความผิดปกติบางอย่างในการดูดซึมวิตามินบี โดยอาการของภาวะขาดวิตามินบีจะแตกต่างกันไปตามชนิดของวิตามินบีที่ร่างกายขาดไป

วิตามินบีแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่หรือประโยชน์ที่แตกต่างกันไป โดยวิตามินบีจัดเป็นวิตามินชนิดละลายได้ในน้ำและไม่สะสมในร่างกาย หรืออาจจะสะสมเพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังถูกทำลายได้ง่ายผ่านกระบวนการทำอาหาร หรือจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภาวะขาดวิตามินบีจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายหากเทียบกับภาวะขาดวิตามินชนิดอื่น ๆ

Vitamin B Deficiency

อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 

อาการจากภาวะขาดวิตามินบีจะแตกต่างกันไปตามชนิดของวิตามินบีที่ร่างกายขาดไป โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

วิตามินบี 1 หรือไทอะมีน (Thiamin)

วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่พบได้มากในเนื้อหมูและพืชตระกูลถั่ว โดยการขาดวิตามินบี 1 อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ รับประทานข้าวขัดสี ปลาดิบ หอยดิบ หรือปลาร้าในปริมาณมากเป็นประจำ หรือผู้อยู่ในช่วงที่ร่างกายต้องการวิตามินบี 1 มากขึ้น เช่น ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้ป่วยที่ต้องล้างไต

โดยอาการที่มักพบได้ในผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกสับสน อารมณ์ฉุนเฉียว หรือในกรณีรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดโรคเหน็บชา (Beriberi) ซึ่งเป็นโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและหัวใจได้

วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin)

วิตามินบี 2 เป็นวิตามินที่พบได้มากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ข่าว ผักใบเขียว และเครื่องในสัตว์ โดยผู้ที่ขาดมักเป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ส่วนอาการที่มักพบ เช่น เจ็บคอ ลิ้นและริมฝีปากอักเสบ เกิดแผลตกสะเก็ดบริเวณมุมปาก หรือที่เรียกกันว่าภาวะปากนกกระจอก

วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin)

วิตามินบี 3 มักพบได้ในเนื้อสัตว์ ไข่ นม เห็ด และถั่วต่าง ๆ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะนี้ เช่น ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคลำไส้เล็กอักเสบ ส่วนอาการที่มักพบ เช่น คลื่นไส้ หรือปวดท้อง หรือในบางคนอาจพบอาการทางจิตอย่างอาการสับสนร่วมด้วย 

นอกจากนี้ ในกรณีรุนแรง การขาดวิตามินบี 3 ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคเพลแลกรา (Pellagra) ซึ่งจะมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย
  • อาเจียน
  • ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงจัด
  • ผิวหนังเกิดการอักเสบ ผิวหยาบ และผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือสีออกน้ำตาลเมื่อถูกแสงแดด
  • เกิดอาการทางจิต เช่น วิตกกังวล ฉุนเฉียว หลอน หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

วิตามินบี 5 หรือแพนโทเทนิก (Pantothenic)

วิตามินบี 5 ถือเป็นวิตามินที่พบได้ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารประเภทเนื้อสัตว์และพืชผัก ภาวะขาดวิตามินบี 5 จึงพบได้น้อย แต่ก็อาจจะพบได้บ้างในผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ขั้นรุนแรง โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกชาบริเวณมือและเท้า นอนไม่หลับ อารมณ์ฉุนเฉียว

วิตามินบี 6 หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine)

วิตามินบี 6 มักพบได้ในเนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว และผักใบเขียว โดยการขาดวิตามินบี 6 อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น คลื่นไส้ ผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบ เกิดแผลตามมุมปาก สับสน หรือมีอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ การขาดวิตามินบี 6 ยังอาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจาง (Anemia) ได้ 

โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ และผู้หญิงที่กำลังรับประทานยาคุมกำเนิด 

วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin)

วิตามินบี 7 มักพบได้ในตับสัตว์ ไข่แดง เนื้อไก่ และเห็ด โดยภาวะขาดวิตามินบี 7 เป็นภาวะที่พบได้น้อย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก และแบคทีเรียภายในลำไส้ยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ก็ยังอาจพบได้ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยอาการที่อาจพบได้จากภาวะนี้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เล็บเปราะ นอนไม่หลับ และผิวหนังเป็นสะเก็ดบริเวณรอบดวงตา ปาก และจมูก

วิตามินบี 9 หรือโฟเลท (Folate)

ภาวะขาดวิตามินบี 9 มักพบได้ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย เกิดแผลในช่องปาก ผมร่วง สีผมและเล็บเปลี่ยนไป หรือผิวซีด โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 9 ได้แก่ เนื้อไก่ ไข่ไก่ พืชตระกูลถั่ว และผักใบเขียว 

วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin)

วิตามินชนิดนี้มักพบได้ในเนื้อสัตว์ นม ไข่ไก่ แต่ไม่สามารถพบได้ในพืช ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติและทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่รับประทานมังสวิรัติจึงอาจเสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการดูดซึมวิตามินบี 12 ของร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงไปตามอายุ ผู้สูงอายุจึงเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้เช่นกัน 

โดยตัวอย่างอาการของภาวะขาดวิตามินบี 12 ที่อาจพบได้ เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • รู้สึกชา หรือเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณมือและเท้า
  • ท้องผูก
  • น้ำหนักลดผิดปกติ
  • มีแผลที่ลิ้นและภายในช่องปาก
  • ทรงตัวลำบาก
  • ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล สับสน หรือซึมเศร้า

นอกจากนี้ ในบางคนยังอาจพบการเกิดภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia ได้อีกด้วย

เนื่องจากภาวะขาดวิตามินบีอาจนำไปสู่ภาวะผิดปกติได้มากมาย การรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ผู้ที่มีแนวโน้มรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีไม่เพียงพอและต้องการรับประทานอาหารเสริมวิตามินบีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ