ขาบวม คืออาการบวมบริเวณขา ไม่ว่าจะเป็นต้นขา น่อง หรืออาจลุกลามมาบริเวณเท้าหรือข้อเท้า ขาบวมเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยสาเหตุของอาการนี้ก็สามารถเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น อาการบาดเจ็บ การใช้ยาบางชนิด หรือภาวะสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งวิธีรับมือกับอาการขาบวมในแต่ละกรณีจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ
แม้อาการขาบวมอาจจะฟังดูไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาการขาบวมก็สามารถเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติรุนแรงบางชนิดได้ อย่างโรคไต ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการขาบวมมาให้ทุกคนได้ศึกษาและลองนำไปสังเกตตัวเองกัน
ขาบวมเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการขาบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ ได้แก่
1. ภาวะบวมน้ำ (Edema)
ภาวะบวมน้ำเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อในร่างกายมีของเหลวสะสมอยู่ในปริมาณมากจนส่งผลให้เกิดอาการบวม โดยผู้ที่มีอาการขาบวมจากภาวะบวมน้ำจะมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผิวหนังบริเวณขาตึงและมันวาว เดินลำบาก และผิวหนังจะเกิดรอยบุ๋มนานผิดปกติก่อนจะกลับสู่สภาพเดิมหลังจากถูกจิ้มค้างเอาไว้
2. อาการบาดเจ็บ
การได้รับการบาดเจ็บ ไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรือโรคบางชนิด ก็อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการบวมได้เช่นกัน โดยตัวอย่างโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบก็เช่น
- โรคเก๊าท์ ซึ่งเกิดจากการที่มีผลึกกรดยูริคสะสมตามข้อ
- รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปโดยการไปทำลายเนื้อเยื่อตามข้อ
- ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome) เป็นภาวะที่ระดับความดันในกล้ามเนื้อเพิ่มสูงผิดปกติ โดยลักษณะอาการเด่น ๆ ก็เช่น กล้ามเนื้อยื่นหรือบวมออกมาอย่างเห็นได้ชัด ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง รู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่ม
- ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อกระดูกหรือกระดูกอ่อนเริ่มเสื่อมสภาพลง
3. เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอย่างรุนแรงผ่านทางแผลหรือรอยแตกตามร่างกาย โดยอาการอื่นที่อาจพบได้ เช่น รู้สึกร้อนบริเวณขาหรือแผล มีไข้ หนาวสั่น ปวด มีแผลพุพอง หรือผิวหนังมีรอยบุ๋ม
4. โรคไต
โรคไตเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อไตเกิดความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดยนอกจากอาการขาบวมแล้ว อาการจากโรคนี้จะค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่มักพบก็เช่น ปัสสาวะถี่ ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ผิวแห้ง คันผิว ตาบวม หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และเจ็บหน้าอก
5. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis)
ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดดำเกิดการอุดตันจากลื่มเลือด จนส่งผลให้เลือดเกิดการคั่งข้างและมีอาการบวมตามมาได้ นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น อาการปวดขา เป็นไข้ รู้สึกร้อนบริเวณขา หรือขามีสีเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ แม้โดยทั่วไปภาวะนี้อาจไม่รุนแรง แต่หากลิ่มเลือดที่อุดตันเกิดการแตกตัว เศษลิ่มเลือดก็อาจไหลเวียนไปสู่บริเวณปอดและเกิดการอุดตันจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ผู้ที่พบอาการในลักษณะดังที่กล่าวไปจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
6. ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)
ภาวะนี้เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเป็นปกติ จนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอ และเกิดการสะสมของของเหลวตามอวัยวะบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณขา โดยนอกจากอาการขาบวมแล้ว อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น หายใจลำบาก ใจสั่น เจ็บหน้าอก น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย และปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
7. ครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการที่ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นร่วมกับมีโปรตีนปนในปัสสาวะสูงผิดปกติ โดยภาวะส่วนใหญ่จะมีโอกาสเกิดในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์
โดยนอกจากอาการขาบวม ผู้ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมักพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น เกิดอาการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณดวงตา มองเห็นภาพไม่ชัด ดวงตาไวต่อแสง และปวดศีรษะ
8. การใช้ยาบางชนิด
ในบางกรณี อาการขาบวมอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาบางชนิดเช่นกัน เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยารักษาภาวะเบาหวาน ยาต้านเศร้า และยาที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นส่วนผสม
แนวทางการรับมือกับอาการขาบวม
วิธีการรับมือกับอาการขาบวมจะขึ้นอยู่กับว่าอาการขาบวมเกิดจากอะไร เช่น หากอาการขาบวมเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยก็อาจเพียงพักการใช้ยา ประคบเย็นบ่อย ๆ ประมาณครั้งละ 20 นาที ใช้ผ้ายืดรัดขา และพยายามยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยเฉพาะขณะนอนหลับ
หรือผู้ที่มีอาการขาบวมจากภาวะบวมน้ำ ก็อาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้
- ลดประมาณการบริโภคเกลือ
- พยายามยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
- หากอาการบวมไม่รุนแรงมาก อาจจะออกไปเดินช้า ๆ เพื่อลดอาการบวม
อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น หากเห็นว่าขาบวมเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติที่รุนแรง หรือหาสาเหตุไม่พบ โดยเฉพาะหากพบอาการเจ็บขา เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ ไอปนเลือด ขาเกิดแผล ขาผิดรูป หรือไม่สามารถเดินได้ร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุดทันที