ข้อเท้าบวม เป็นอาการที่พบได้บ่อย ผู้ที่ข้อเท้าบวมบางรายอาการอาจลามไปถึงบริเวณเท้าและฝ่าเท้า โดยสาเหตุของอาการนี้อาจเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่อาหารที่รับประทาน การได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงการเจ็บป่วยจากโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการข้อเท้าบวมมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง ซึ่งผู้ที่มีอาการอาจพบว่า อาการจะค่อย ๆ หายไปเองหรืออาจใช้วิธีดูแลตัวเองบางอย่างเพื่อช่วยให้หายไวขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการนี้ก็ควรสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรงได้
8 ตัวอย่างสาเหตุของอาการข้อเท้าบวม
ข้อเท้าบวมเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
1. ภาวะบวมน้ำ (Edema)
ภาวะบวมน้ำเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เนื้อเยื่อภายในร่างกายมีการสะสมของของเหลวในปริมาณมาก โดยผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะนี้ก็เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่นั่งหรือยืนในท่าเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่รับประทานอาการที่มีปริมาณเกลือสูง หรือผู้ที่กำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยาต้านเศร้า หรือสเตียรอยด์
นอกจากอาการข้อเท้าบวม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผิวหนังตึง ผิวหนังมีลักษณะมันวาว เดินลำบาก และผิวหนังเกิดรอยบุ๋มนานผิดปกติหลังจากถูกจิ้ม
2. การบาดเจ็บ
เมื่อได้รับการบาดเจ็บ เลือดในร่างกายจะไหลเวียนเซลล์และของเหลวไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวมากขึ้น จนส่งผลให้บริเวณนั้น ๆ เกิดอาการบวมตามมาได้ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมักพบอาการเจ็บ ปวด เกิดรอยแดง และผิวหนังแสบร้อนบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บร่วมด้วย
3. การตั้งครรภ์
ข้อเท้าบวมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงประมาณเดือนที่ 5 เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บของเหลวในร่างกายที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และหลอดเลือดที่ได้รับแรงกดทับจากการที่ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่โดยปกติแล้วอาการข้อเท้าบวมจะหายไปได้เองเมื่อคุณแม่คลอดลูก
อย่างไรก็ตาม อาการข้อเท้าบวมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บวมมากผิดปกติ หรือมีอวัยวะอื่น อย่างมือหรือใบหน้าบวมร่วมด้วย โดยเฉพาะหากอาการเกิดขึ้นในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันทีได้
4. ลิ่มเลือดอุดตัน
หากหลอดเลือดบริเวณข้อเท้าเกิดการอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือด การไหลเวียนของเลือดก็อาจแย่ลงและนำไปสู่อาการข้อเท้าบวม หรืออาจลามไปถึงบริเวณฝ่าเท้าและขาได้ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่าข้อเท้า เท้า หรือขามีอาการบวมเพียงแค่ข้างเดียว
ทั้งนี้ ภาวะนี้เป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดข้อเท้า มีไข้ หรือข้อเท้าเริ่มเปลี่ยนสี เนื่องจากลิ่มเลือดที่อุดตันอาจแตกออกและไหลเวียนเข้าสู่หัวใจหรือปอดได้
5. หัวใจวาย (Heart failure)
หัวใจวายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องล่างเกิดความผิดปกติ จนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เลือดเกิดการคั่งค้างบริเวณข้อเท้าและขา โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมักพบอาการข้อเท้าบวมและอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเมื่อนอนราบไปกับพื้น ใจสั่น แน่นหน้าอก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
6. โรคไต
ผู้ที่ไตมีปัญหา หรือป่วยเป็นโรคไต อาจมีการสะสมของเกลือในเลือดปริมาณมาก จนส่งผลให้ร่างกายเกิดการกักเก็บของเหลวไว้มากขึ้น และนำไปสู่อาการบวมบริเวณข้อเท้าหรือบริเวณเท้าได้
นอกจากนี้ อาการอื่นที่มักพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น อาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลียบ่อย นอนไม่หลับ บริเวณรอบ ๆ ดวงตาบวม ปัสสาวะบ่อย แน่นหน้าอก และหายใจไม่อิ่ม
7. โรคตับ
โรคตับบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีระดับโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ในเลือดต่ำผิดปกติ ซึ่งหากระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำเกินไปก็อาจส่งผลให้ของเหลวในเลือดไปสะสมตามเนื้อเยื่อในร่างกายแทน จนนำไปสู่อาการบวมบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้า เท้า ใบหน้า หรือมือ
นอกจากนี้ อาการอื่นที่มักพบได้จากโรคตับก็เช่น รู้สึกปวดบริเวณท้อง ท้องบวม ผิวหนังและดวงตามีสีออกเหลือง เกิดรอยช้ำง่าย ปัสสาวะมีสีเข้ม หรืออุจจาระมีสีเข้มหรือจางผิดปกติ
8. การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ที่ใช้เกิดอาการข้อเท้าหรือเท้าบวมเป็นผลข้างเคียงได้ โดยตัวอย่างยาที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
- ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium–channel Blockers) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูง
- ยาต้านเศร้า โดยเฉพาะยาฟีเนลซีน (Phenelzine)
- ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด เอสโตรเจน (Estrogen) และเทสโทสเทอโรน (Testosterone)
- ยารักษาภาวะเบาหวาน
- สเตียรอยด์
- ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างสาเหตุที่ได้กล่าวไป อาการข้อเท้าบวมยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน เช่น การติดเชื้อ ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) ภาวะเบาหวาน โรคเก๊าท์ และภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
แนวทางการรับมือข้อเท้าบวม และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่อาการข้อเท้าบวมเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ และไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ให้ผู้ที่มีอาการหลีกเลี่ยงการประคบร้อนทันทีหลังเกิดการบาดเจ็บเนื่องจากความร้อนอาจยิ่งส่งผลให้อาการแย่ลงได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการอาจบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้เพียงการพักเท้าใช้เท้า ประคบเย็นบริเวณที่บวมบ่อย ๆ ครั้งละ 20 นาที ใช้ผ้ายืดรัดข้อเท้าแต่ระวังอย่ารัดแน่นจนเกินไป พยายามยกข้อเท้าให้สูงกว่าระดับของหัวใจขณะนอนหลับ
ส่วนในกรณีที่อาการข้อเท้าบวมเกิดจากสาเหตุอื่น ให้ผู้ป่วยลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้ก่อนในเบื้องต้น ได้แก่
- หากเดินไหว อาจลองหาเวลาเดินช้า ๆ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง โดยให้เลือกรองเท้าที่มีพื้นรองเท้านิ่มและไม่รัดเท้าแน่นจนเกินไปแทน
- รักษาความสะอาดบริเวณข้อเท้าเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ลดปริมาณการรับประทานเกลือ
- สำหรับผู้ที่พบอาการข้อเท้าบวมหลังรับประทานยาชนิดใด ๆ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบ
สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ที่มีอาการข้อเท้าบวม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะรุนแรง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปัสสาวะน้อยลงผิดปกติ
ทั้งนี้ วิธีที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หากลองทำตามแล้วพบว่าอาการข้อเท้าบวมไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน หรืออาการแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ข้อเท้าบวมเพียงข้างเดียว ข้อเท้าเปลี่ยนสี ข้อเท้าผิดรูป ยืนไม่ไหว มีไข้ หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด หรือกำลังป่วยเป็นเบาหวาน