ความเหงาเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว บางคนรู้สึกเหงาเมื่อไม่มีอะไรทำ บางคนเหงาทุกครั้งเมื่ออยู่คนเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนขี้เหงามากแค่ไหนด้วย ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความเหงาที่คนคุ้นเคยกันดีนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของคนเราได้ในหลายด้าน
ความเหงาเป็นอย่างไร ?
ความเหงาอาจเกิดจากการขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือเมื่อต้องอยู่ตัวคนเดียว โดยความเหงาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีเพื่อนมากน้อยแค่ไหน หากแต่เป็นคุณภาพของความสัมพันธ์มากกว่า เพราะบางครั้งการอยู่กับคนมากมายก็ทำให้เหงาได้เช่นกัน ทั้งนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาทดลองในกลุ่มคู่แฝดจำนวนมากแล้วพบว่า ความเหงาอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมและสภาพสังคม โดยมีส่วนประกอบมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ความเหงาทำร้ายสุขภาพอย่างไร ?
ความรู้สึกเหงาอาจส่งผลให้ใครหลาย ๆ คนซึมเศร้า โดดเดี่ยว หรือแยกตัวออกจากสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ตามลำพัง และผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ เพราะในยามที่ต้องเผชิญความยากลำบาก กำลังใจและความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ตัว เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ปรับตัวรับมือกับความเครียด และยังทำให้สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดีได้
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบางคนรวมทั้งานวิจัยบางส่วนคาดว่า ความเหงาอาจเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ด้วย
ภาวะซึมเศร้า คนที่รู้สึกเหงามักไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรืออาจแยกตัวออกจากเพื่อนฝูง ครอบครัว และสังคม เมื่อนานไปจึงเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้าตามมาได้
อาการเจ็บป่วยแย่ลง มีงานวิจัยบางส่วนพบว่า ความโดดเดี่ยวทางสังคมนั้นอาจมีส่วนทำให้ภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอยู่แย่ลงได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับการอักเสบบางชนิด เป็นต้น
ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและกระบวนการอักเสบ การค้นคว้าบางส่วนพบว่า ความเหงาหรือความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานและเรื้อรัง อาจสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อยีนกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและกระบวนการตอบสนองต่อการอักเสบ ดังนั้น ความเหงาจึงอาจส่งผลให้กลไกเหล่านี้ทำงานแย่ลงได้ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป เพื่อให้ทราบกลไกที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
คู่มือเอาชนะความเหงา
ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้เป็นปกติและไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่สำหรับผู้ที่รู้สึกเหงาเป็นเวลานานจนคล้ายจะซึมเศร้า อาจรับมือกับความเหงาโดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ถามตัวเองว่าเหงาเพราะไม่ค่อยได้คุยกับใคร หรือยังเหงาแม้จะถูกรายล้อมด้วยผู้คนมากมาย แต่ไม่ใช่คนที่เข้าใจ ห่วงใย หรือพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ เพราะหากเป็นแบบแรกก็อาจลองออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คนให้รู้สึกมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น แต่หากเป็นอย่างหลัง อาจลองหาใครสักคนที่ตนสามารถพูดคุยปรึกษาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ
- ลองหาเพื่อนใหม่ ๆ โดยอาจเริ่มจากการเข้าร่วมชมรมหรือกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้มีเรื่องคุยและสนิทกันได้เร็วยิ่งขึ้น
- หาเพื่อนที่ขี้เหงาหรือกำลังรู้สึกเหงาเหมือนกัน วิธีนี้อาจช่วยตอบโจทย์ได้ดีกว่าการมีเพื่อนที่ชอบใช้ชีวิตคนเดียว
- หางานอดิเรกทำเพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้นแทน เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย จัดสวน เป็นต้น หรืออาจทำกิจกรรมอาสาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อผู้อื่น ทั้งยังอาจช่วยให้ลืมสิ่งแย่ ๆ ที่กำลังเผชิญ และเปิดโลกไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่มีพลังบวกมากขึ้น
- หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น ศาสนา หรือแนวคิดต่าง ๆ เป็นต้น เพราะการทำความเข้าใจแก่นคำสอนหรือแนวคิดบางอย่าง อาจช่วยให้ปล่อยวางหรือเข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้น
- เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน โดยเฉพาะสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์สังคมและชอบเคล้าเคลียกับเจ้าของ ทว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างแมว ปลา หรือนก ก็อาจช่วยคลายความเหงาได้ไม่แพ้กัน
- อย่าคาดหวังกับผู้อื่นมากเกินไป บางครั้งที่รู้สึกว่าคู่สนทนาไม่เข้าใจหรือไม่คล้อยตามความคิดของเรา นั่นเป็นเพราะต่างคนต่างก็มีทัศนคติและความชอบไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็อาจเป็นไปได้ยากที่จะหวังพึ่งพาหรือได้รับความเข้าอกเข้าใจในทุก ๆ เรื่องจากเพื่อนที่เพิ่งเจอกันไม่นาน
- ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น เมื่อเพื่อนไม่สามารถมาเจอหรือให้ความช่วยเหลืออย่างที่ขอได้ ไม่ควรคิดว่าเป็นการปฏิเสธหรือคิดไปว่าเพื่อนไม่อยากเจอ เพราะแต่ละคนย่อมมีกิจธุระของตัวเอง เป็นต้น การคิดได้เช่นนี้จะช่วยรักษาความสัมพันธ์และทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย
- ทำใจให้สงบ บางครั้งจิตใจที่ฟุ้งซ่านก็ทำร้ายเราได้ อาจลองนั่งสมาธิหรือฝึกการหายใจเพื่อฝึกจิตให้นิ่งยิ่งขึ้น
- คิดทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้เห็นมุมมองดี ๆ และรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเหงาหรือความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยสังเกตได้จากอาการเศร้า สิ้นหวัง หดหู่ ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ อ่อนล้า หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ซึ่งค่อนข้างรุนแรงหรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการเข้าข่ายดังที่กล่าวมาหรือสงสัยว่าตนอาจมีภาวะซึมเศร้า ควรไปปรึกษาแพทย์