คันรักแร้เป็นอาการที่เกิดได้บ่อย เพราะใต้วงแขนเป็นจุดที่ผิวหนังบางกว่าผิวบริเวณอื่น เป็นจุดอับและมีขนรักแร้ ทำให้เปียกชื้นและระคายเคืองได้ง่าย อาการคันรักแร้มักเกิดร่วมกับการมีผื่นแดง ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
อาการคันรักแร้เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยระยะเวลาที่เป็นและวิธีรักษาอาการคันรักแร้จะแตกต่างกันตามสาเหตุ บางสาเหตุอาจหายได้เองหลังจากดูแลตัวเอง แต่หากมีอาการคันเป็นเวลานานโดยที่อาการไม่ดีขึ้น หรือเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังที่ต้องได้รับการตรวจและรักษา
สาเหตุของอาการคันรักแร้
อาการคันรักแร้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การไม่รักษาความสะอาดบริเวณใต้วงแขนซึ่งเป็นจุดที่อับชื้นง่าย หากไม่ทำความสะอาดให้ดีอาจทำให้แบคทีเรียสะสมและเติบโตจนทำให้มีอาการคันรักแร้ รวมทั้งการโกนขนรักแร้ด้วยมีดโกนที่ใบมีดไม่คม หรือการไม่ได้ใช้ครีมหรือเจลสำหรับโกนขนซึ่งอาจทำให้ผิวแห้ง คัน และระคายเคือง
นอกจากนี้ อาการคันรักแร้ยังอาจเกิดจากโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น
ผดร้อน (Prickly Heat หรือ Heat Rash)
ผดร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อจากการสะสมของแบคทีเรีย เซลล์ผิว และน้ำมัน มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนและชื้น หรือเกิดจากการสวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายเหงื่อ ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงเล็กๆ และมีหนอง ทำให้รู้สึกคันและเจ็บรักแร้
การติดเชื้อยีสต์แคนดิดา (Candida)
การติดเชื้อยีสต์แคนดิดาที่ผิวหนังพบบ่อยในบริเวณผิวหนังที่อับชื้น ทำให้เกิดผื่นแดง คัน แสบร้อน และอาจทำให้รูขุมขนอักเสบและมีตุ่มหนอง
กลาก (Ringworm)
กลากเกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง พบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับขา และเท้า ผิวบริเวณที่เป็นกลากจะมีลักษณะเป็นวงสีแดงและมีขุยสีขาวบาง ๆ ขึ้นโดยรอบ ซึ่งทำให้เกิดอาการคัน
โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
คันรักแร้อาจเกิดจากโรคผื่นระคายสัมผัสเนื่องจากการสัมผัสสารบางอย่างในผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเป็นสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดผื่นแดงและคันหลังจากสัมผัสโดนสารนั้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากการอักเสบของผิวหนังเรื้อรัง ทำให้ผิวแห้ง บวมแดง คัน และมีตุ่มเล็ก ๆ มักพบบริเวณหลังหู ศอก และตามข้อพับ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม และมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น เหงื่อ ฝุ่น การใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิด และการอาบน้ำร้อน โดยผู้ที่มีผิวแห้ง มีโรคหืด และโรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคนี้มากกว่าคนอื่น ๆ
การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa)
การอักเสบของต่อมเหงื่อ เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ทำให้เกิดตุ่มหนองคล้ายสิว หรือมีก้อนขนาดเล็กใต้ผิวหนัง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรู้สึกเจ็บ มักเกิดบริเวณรักแร้ ข้อพับ และขาหนีบที่ผิวหนังเสียดสีกัน ตุ่มที่ผิวหนังอาจหายไปได้เอง และอาจเกิดขึ้นซ้ำในบริเวณเดิมหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ผื่นอักเสบที่เกิดขึ้นระหว่างรอยพับของผิวหนัง (Intertrigo)
ผื่นอักเสบมักเกิดขึ้นที่รักแร้และขาหนีบ ซึ่งอาจเกิดจากอากาศร้อน การไม่รักษาความสะอาด และการมีน้ำหนักตัวมาก ทำให้ผิวหนังเกิดการเสียดสี หากมีผื่นขึ้นเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้
โรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans)
โรคผิวหนังช้างทำให้เกิดรอยดำบริเวณซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ ผิวหนังบริเวณนี้จะหนากว่าส่วนอื่น และอาจทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งเป็นโรคที่มักพบในผู้ที่มีโรคอ้วน มีภาวะดื้ออินซูลิน และไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)
มะเร็ง
อาการคันรักแร้อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory Breast Cancer) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) แต่ผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอักเสบอาจมีอาการเต้านมบวม ผิวบริเวณเต้านมแดงและแห้งแตก และผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจมีอาการผิวแห้ง มีลักษณะเป็นแผ่นหนา มีตุ่มนูนแดง และต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบบวม
คันรักแร้ ทำอย่างไรดี
หากมีอาการคันรักแร้ ควรดูแลผิวบริเวณใต้วงแขนด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- อาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน และซับน้ำให้แห้งเสมอ เนื่องจากการปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมมหรือรักแร้เปียกชื้นอาจทำให้เกิดอาการคันรักแร้มากขึ้น หรืออาจแช่น้ำอุ่นผสมข้าวโอ๊ตซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคันรักแร้ได้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ช่วงแขนเสื้อรัดรักแร้มากเกินไป
- ไม่ควรเกา แกะ หรือพยายามบีบตุ่มหนองที่รักแร้ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและเกิดการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย และมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีน้ำหอม หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วเกิดอาการคัน และมีผื่นแดง ควรหยุดใช้ทันที
- ประคบเย็นที่รักแร้ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นหรือห่อน้ำแข็งเพื่อช่วยลดอาการคัน
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศหากภายในที่พักมีอากาศร้อน
- ปรึกษาเภสัชกรเพื่อใช้ยารักษา เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน และโลชั่นคาลาไมน์ที่ช่วยบรรเทาอาการคันรักแร้ ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และโคไตรมาโซล (Clotrimazole) ที่ช่วยฆ่าเชื้อ หากอาการคันรักแร้เกิดจากการติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา
หากพยายามบรรเทาอาการคันรักแร้ด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการคันรักแร้อาจเกิดจากโรคผิวหนังเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต