งีบอย่างไรให้ได้ประโยชน์

งีบเป็นการนอนหลับช่วงเวลาสั้น ๆ ในระหว่างวัน ไม่เพียงแต่เด็กเล็กที่ต้องการการงีบหลับในช่วงกลางวัน แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจต้องการงีบหลับด้วยเช่นกัน การงีบมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยให้ความจำดีขึ้น ลดความเครียด และกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่า โดยเฉพาะคนที่นอนไม่พอหรือทำงานกะกลางคืน

อย่างไรก็ตาม การงีบให้ได้ประโยชน์ควรคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม และไม่ควรงีบนานเกินไป เพราะอาจทำให้นอนหลับยากในช่วงกลางคืน บทความนี้ได้รวบรวมประโยชน์ของการงีบ เทคนิคการงีบให้ได้ประโยชน์และไม่ทำร้ายสุขภาพมาฝากกัน

งีบอย่างไรให้ได้ประโยชน์

ประโยชน์ของการงีบ

การงีบมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • กระตุ้นความตื่นตัว หลายคนมักง่วงนอนหลังรับประทานอาหารกลางวัน การงีบหลับช่วงสั้น ๆ จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่าและพร้อมทำงานต่อได้ดีขึ้น
  • เสริมความจำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าการงีบช่วงกลางวันช่วยความคิดเชิงตรรกะและเหตุผลให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความจำในระยะสั้น และช่วยในการทำงานของสมองที่แปลงข้อมูลให้เป็นหน่วยความจำระยะยาว การงีบหลับหลังจากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้เราจดจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
  • ลดความเครียด เพราะการล้มตัวลงนอนจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้อารมณ์ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะหลับหรือไม่ก็ตาม
  • ลดอุบัติเหตุในคนที่ขับขี่ตอนกลางคืน และคนที่ทำงานเป็นกะ เพราะการงีบหลับจะช่วยเติมเต็มช่วงเวลานอนที่ขาดหายไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพออาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในตอนกลางคืน ผลการศึกษาหนึ่งระบุว่าการงีบหลับเป็นเวลา 30 นาทีระหว่างเวลา 13.00–15.00 น. ควบคู่กับการออกกำลังกายระดับปานกลาง อย่างการเดินและการยืดกล้ามเนื้อในตอนเย็น จะช่วยให้นอนหลับตอนกลางคืนดีขึ้น

งีบกี่นาทีถึงดีต่อร่างกาย

โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาการงีบที่เหมาะสมที่สุด (Power Nap) จะอยู่ระหว่าง 10–20 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานพอที่ทำให้เราตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นและไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ยกเว้นการงีบของเด็กเล็กในระหว่างวันที่อาจยาวงีบหลับนานกว่า 20 นาที เพราะเด็กเล็กจะต้องการเวลานอนหลับมากกว่าผู้ใหญ่ และการงีบของผู้ป่วยเพื่อพักฟื้นร่างกาย ซึ่งใช้เวลางีบนานกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง

ทั้งนี้ ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที เพราะการนอนหลับนานเกิน 30 นาที จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ระยะหลับลึก (Deep Sleep) หากต้องตื่นจากการนอนหลับในช่วงนี้จะทำให้รู้สึกมึนงงและงัวเงียได้นานถึง 1 ชั่วโมง และอาจทำให้ไม่รู้สึกง่วงและนอนไม่หลับได้ยากขึ้นในตอนกลางคืน ส่งผลให้เช้าวันรุ่งขึ้นรู้สึกอ่อนเพลียและอยากงีบในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นวงจรที่ทำลายสุขภาพ

เทคนิคต่อไปจะช่วยให้การงีบดีต่อสุขภาพมากขึ้น 

  • ตั้งนาฬิกาให้ปลุกหลังงีบหลับประมาณ 10–20 นาที เพื่อไม่ให้นอนเกินเวลาจนรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอน
  • ควรงีบในช่วงเวลา 13.00–15.00 น. เพราะการงีบหลัง 15.00 น. เป็นต้นไปจะค่อนข้างใกล้เวลาเข้านอนมากเกินไป และอาจส่งผลให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน
  • หลีกเลียงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลัง 15.00 น. เพราะจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและนอนไม่หลับ
  • จัดบรรยากาศให้เหมาะสมกับการงีบ โดยอุณหภูมิในห้องไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ไม่มีเสียงรบกวนหรือแสงสว่างจ้า หากเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าปิดตาและที่อุดหู เพื่อป้องกันแสงและเสียงรบกวน
  • คนที่ทำงานกะกลางคืนหรือต้องขับรถทางไกล ควรงีบก่อนเข้ากะหรือก่อนขับรถ
  • ผ่อนคลายความเครียดก่อนงีบ การนอนทั้งที่มีเรื่องไม่สบายใจจะทำให้นอนไม่หลับ
  • หากไม่มีเวลางีบระหว่างวัน การนั่งสมาธิอาจช่วยทดแทนได้ โดยทำให้คลื่นสมองช้าลงคล้ายกับการงีบหลับ จึงช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ 

ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการการงีบระหว่างวัน หากไม่รู้สึกง่วงก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตัวเองงีบ เพราะการไม่ได้งีบหลับไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกอยากงีบนานกว่าปกติ และรู้สึกอ่อนเพลียอย่างไม่มีสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการนอนหลับ