ง่วงนอนตลอดทั้งวัน เป็นปัญหาสุขภาพหรือไม่ รักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจเคยประสบกับอาการง่วงนอนตลอดทั้งวัน ซึ่งหลายคนมักเข้าใจว่าอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลามีสาเหตุมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ แต่ความจริงแล้วการง่วงนอนระหว่างวันอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของตนเอง หรือเป็นผลกระทบจากปัญหาสุขภาพ 

อาการง่วงนอนทั้งวันนอกจากจะทำให้ไม่สดชื่นแล้ว ยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานหรือการใช้ชีวิตอีกด้วย ผู้ที่มีอาการจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรหาสาเหตุของอาการง่วงนอนในระหว่างวัน เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาด้วยวิธีเหมาะสม ก่อนที่ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือสุขภาพมากขึ้น

ง่วงนอนตลอดทั้งวัน เป็นปัญหาสุขภาพหรือไม่ รักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

ง่วงนอนตลอดวัน เกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการง่วงตอนตลอดวันอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายประการ ดังนี้

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมบางอย่างที่เราทำเป็นประจำในทุก ๆ วันสามารถส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนในระหว่างวันได้ เช่น การนอนดึก ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอจนทำให้เกิดอาการง่วง นอกจากนี้ การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือต้องเปลี่ยนไปทำงานในเวลากลางคืนก็เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกง่วงตลอดวันได้เช่นกัน

ปัญหาสุขภาพจิต

การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตและอารมณ์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ โดยสาเหตุของอาการง่วงนอนส่วนใหญ่มักมาจากอาการเบื่อหน่าย ขณะที่ภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียจนเป็นสาเหตุของอาการง่วงเหงาหาวนอน

ปัญหาสุขภาพ

ปัญหาสุขภาพบางอย่างก็สามารถก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน เช่น

  • โรคแพ้กลูเตน สำหรับคนที่แพ้โปรตีนกลูเตน หากรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนกลูเตนจะก่อให้เกิดอาการแพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ท้องเสีย และโลหิตจางได้ โดยอาหารที่มีโปรตีนกลูเตน ได้แก่ ขนมปัง เค้ก หรือซีเรียล
  • โรคโลหิตจาง อาการง่วงนอนจากโรคโลหิตจางนั้นโดยส่วนใหญ่จะมาจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเมื่อธาตุชนิดนี้มีในร่างกายไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าและอ่อนเพลียได้
  • โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) คือโรคที่เกิดจากการอ่อนเพลียอย่างรุนแรงติดต่อกันมานานมากกว่า 6 เดือน โดยโรคนี้อาจก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บคอ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ทั้งนี้แพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังและเมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำลงกว่าปกติก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยและน้ำหนักลดด้วยเช่นกัน
  • โรคติดเชื้ออีบีวี (Glandular Fever) หรือโมโนนิวคลีโอสิส (Mononucleosis) หนึ่งในโรคติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและรอให้ร่างกายกำจัดเชื้อนี้ไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน แต่ก็อาจมีบางกรณีที่เกิดการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาควบคู่กันไปด้วย
  • โรคเบาหวาน อาการอ่อนเพลียเป็นหนึ่งในอาการของโรคเบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด
  • กลุ่มอาการขาไม่อยู่สุข (Restless Legs Syndrome) อาการขาสั่น และอาการปวดขาที่เกิดในกลุ่มผู้ที่มีกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข จนทำให้เกิดการนอนหลับไม่เพียงพอในเวลากลางคืน เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียในระหว่างวันนั่นเอง
  • โรคกังวลเกินเหตุ (Generalised Anxiety Disorder) ความวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน สามารถส่งผลให้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายอีกด้วย

การใช้ยาบางประเภท

ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาท มีผลข้างเคียงในการใช้คืออาจทำให้รู้สึกง่วงได้ โดยยาเหล่านี้จะมีคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรกลเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ หากเกิดอาการง่วงนอนตลอดทั้งวันขณะที่ใช้ยาเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือยาที่ได้รับมีปริมาณไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย

นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับสามารถส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน สาเหตุก็เนื่องมาจากยานอนหลับจะเข้าไปรบกวนวงจรการนอนหลับจนทำให้เมื่อตื่นมาแล้วอาจรู้สึกไม่สดชื่น หรือง่วงนอนมากกว่าเดิมได้

ความผิดปกติด้านการนอนหลับ

อาการง่วงนอนอย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับที่ส่งผลต่ออาการง่วงนอนระหว่างวันอย่างชัดเจนคือ การหยุดหายใจระหว่างนอนหลับที่ทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกจนทำให้นอนไม่พอ อีกทั้งยังมีโรคลมหลับ หรือปัญหานอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่พอหรือไม่เต็มอิ่มจนทำให้ง่วงระหว่างวันได้

ง่วงนอนตลอดทั้งวันแก้ไขอย่างไรให้ถูกวิธี 

การงีบหลับเมื่อรู้สึกง่วงแม้จะช่วยให้ความง่วงลดลงไปได้ แต่ก็เป็นเพียงแค่การแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้นเพราะในที่สุดแล้วก็จะกลับมามีอาการง่วงเหงาหาวนอนอีก จึงควรแก้ไขที่ต้นเหตุจึงจะดีที่สุด โดยวิธีการกำจัดอาการง่วงนอนระหว่างวันให้หายขาดทำได้ดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองจะช่วยลดปัญหาการง่วงนอนระหว่างวันได้ โดยจะทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น ตื่นมาก็จะสดชื่น ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถเริ่มง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น

เคารพนาฬิกาชีวิตให้มากขึ้น 

คนเรามีนาฬิกาชีวิตด้วยกันทุกคน ซึ่งนาฬิกาชีวิตนี้จะคอยควบคุมการนอนหลับและการตื่นนอนของเรา อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวม หากเราฝืนและไม่พักผ่อนตามเวลาของนาฬิกาสุขภาพนี้ ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แต่อาการอ่อนเพลียนั้นลดลงได้ด้วยการพักผ่อนเมื่อรู้สึกเหนื่อย หลีกเลี่ยงการนอนหลับเมื่อไม่รู้สึกง่วงหรือเหนื่อย หากต้องการงีบหลับไม่ควรงีบหลับในช่วงตอนบ่ายแก่ ๆ  

อีกทั้งยังควรตื่นและเข้านอนให้ตรงเวลา ตื่นแต่เช้าเพื่อออกไปรับแสงแดด ก็จะช่วยให้นาฬิกาชีวิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน

การนอนหลับไม่เพียงพออาจมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในการนอนไม่ดี ซึ่งสภาพแวดล้อมของห้องนอนที่ดีก็เช่น มีที่นอนที่นอนหลับได้สบาย มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ บรรยากาศในห้องต้องมืดสนิทและเงียบ อีกทั้งไม่ควรใช้ห้องนอนเพื่อการอื่นนอกจากการนอน

หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเสพติด 

ยานอนหลับหรือสารเสพติดบางชนิดจะทำให้การนอนหลับแย่ลง โดยการใช้ยานอนหลับจะทำให้วงจรการนอนไม่สมบูรณ์และทำให้ตื่นมาอ่อนเพลีย ส่วนบุหรี่นั้นแม้จะช่วยผ่อนคลายได้ แต่ก็ไปเร่งอัตราการเต้นของหัวใจและทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนทำให้ตื่นตัวและหลับได้ยาก ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะรบกวนรูปแบบการนอนโดยจะทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะทำให้รู้สึกไม่สดชื่นเท่าที่ควร

ผ่อนคลายความเครียด 

ความเครียดคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรผ่อนคลายความเครียดลง ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เช่น การทำสมาธิ การนวด การออกกำลังกายเบา ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายลงได้

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หลายคนเข้าใจว่ายิ่งออกกำลังกายจะยิ่งทำให้ง่วง แต่อันที่จริงแล้วการออกกำลังกายเป็นประจำเพียงวันละ 30 นาทีจะสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นการเผาผลาญซึ่งจะทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงมากขึ้นอีกด้วย

รับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น 

การรับประทานอาหารบ่อย ๆ ในปริมาณที่ไม่มากจะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานไปได้ตลอดทั้งวันโดยไม่อ่อนเพลียไปเสียก่อน แต่อาหารที่รับประทานก็ไม่ควรเป็นอาหารที่ในกลุ่มของหวานหรือมีน้ำตาลสูง เพราะแม้น้ำตาลจะทำให้สดชื่นแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

โดยอาจลองเปลี่ยนการรับประทานอาหาร จากวันละ 3 มื้อใหญ่ เป็นวันละ 5–6 มื้อย่อย และเลือกของว่างที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะช่วยให้มีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งวัน

ลดน้ำหนัก

น้ำหนักตัวที่มากขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักขึ้นจนเกิดความอ่อนเพลียและง่วงนอนระหว่างวัน ดังนั้นการลดน้ำหนัจึงสามารถช่วยลดอาการอ่อนเพลียในระยะยาวได้ ทั้งนี้ ควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำหนักที่ไม่ได้รับการรับรองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น แต่น้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำเปล่า เพราะหากดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ที่มีน้ำตาลสูง แม้จะทำให้สดชื่นแต่ก็อาจทำให้อ่อนเพลียมากกว่าเดิมในภายหลังได้เช่นกัน

รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

ในกรณีที่อาการง่วงนอนตลอดวันยังไม่หายไปแม้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วก็ตาม การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอนหลับถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะอาการง่วงนอนที่ประสบอยู่นั้นอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง

ในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะพยายามระบุสาเหตุของอาการง่วงนอนตลอดวันโดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้ เช่น คุณภาพในการนอนหลับ การสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืน อาการกรน นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสอบถามว่าในแต่ละวันผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนบ่อยหรือไม่ จากนั้นแพทย์อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาการง่วงนอนและการนอนหลับของผู้ป่วย กิจกรรมที่ทำเมื่อรู้สึกง่วงในระหว่างวัน 

ตัวอย่างการวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ เช่น 

  • หากสาเหตุเกิดจากสุขภาพจิต แพทย์จะแนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป 
  • หากสาเหตุเกิดจากการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาให้เปลี่ยนประเภทของยาหรือปรับปริมาณการใช้ยาใหม่จนกว่าอาการง่วงนอนจะหายไป โดยผู้ป่วยไม่สามารถหยุดหรือลดปริมาณยาได้เองหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ 
  • หากสาเหตุเกิดจากความผิดปกติด้านการนอนหลับ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยว่าปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับนั้นเกิดจากอะไร 

จากนั้นเมื่อได้ผลที่ชัดเจนแล้วก็จะทำการรักษาเพื่อทำให้การนอนหลับกลับมาเป็นปกติ ทว่าหากการตรวจวินิจฉัยขั้นแรกไม่สามารถระบุอาการง่วงนอนตลอดวันได้ ก็อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ผลเลือด การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อมองหาการทำงานของสมองที่ผิดปกติเพื่อทำการรักษาต่อไป

อาการง่วงนอนอาจไม่ใช่เรื่องที่แปลก แต่เราควรใส่ใจและสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้วอาการง่วงนอนตลอดทั้งวันไม่หายไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาที่เหมาะสม