จิตบำบัด แนวทางการรักษาปัญหาสุขภาพจิต

จิตบำบัดเป็นวิธีการรักษาปัญหาทางจิตใจโดยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง ทั้งยังช่วยให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาสามารถตอบสนอง จัดการ และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2047 จิตบำบัด rs

จิตบำบัด คือ อะไร ?

จิตบำบัดเป็นการใช้เวลาในการพูดคุยหรือปรึกษาเรื่องต่าง ๆ กับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ อย่างนักจิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจ ซึ่งการทำจิตบำบัดสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เพื่อปรับรูปแบบความคิด ความเข้าใจ หรือทัศนคติที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ การบำบัดโดยใช้การฝึกสติและการกำหนดลมหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ละจากความคิดในแง่ลบที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางจิตใจ หรือการบำบัดจิตพลวัต ซึ่งจะช่วยให้พบกับสาเหตุ ความทรงจำที่ถูกกดไว้ รวมถึงความขัดแย้งทางความคิดที่อยู่ลึกลงไปในระดับของจิตไร้สำนึก เป็นต้น ทั้งนี้ จิตแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรืออาจใช้มากกว่า 1 วิธีในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วยก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับอาการและเงื่อนไขของผู้รับการบำบัดแต่ละราย

การทำจิตบำบัดเป็นอย่างไร ?

การทำจิตบำบัดแต่ละครั้งมักใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที ในช่วงแรกจิตแพทย์จะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย โดยให้เล่าหรือระบายเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และปัญหาที่กำลังประสบอยู่ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้ และมีอารมณ์ฉุนเฉียวเกิดขึ้นในขณะเล่า หรืออาจพบว่าตนเองรู้สึกอ่อนเพลียหลังจากทำจิตบำบัด

โดยปกติแล้วจิตแพทย์จะเก็บเรื่องราวของผู้ป่วยเป็นความลับ แต่ในบางกรณี หากผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่ออันตราย หรือต้องรับการรักษาที่ต้องการการยินยอมจากผู้ปกครอง อาจมีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งการไปพบจิตแพทย์เพื่อทำจิตบำบัดอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถปรับวิธีการคิดและความรู้สึกที่มีต่อตนเอง และยังช่วยให้สามารถรับมือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หลังการทำจิตบำบัด จิตแพทย์อาจนัดให้ผู้ป่วยมาพบอีกครั้งหลังจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลการบำบัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดปัญหาหรือเข้าขั้นวิกฤตก่อนจึงจะมาบำบัด แต่หากรู้สึกว่าต้องการใครสักคนที่คอยรับฟังและเป็นที่พึ่งทางจิตใจก็สามารถนัดหมายและกลับมาพบจิตแพทย์ใหม่อีกครั้งได้ เมื่อจิตแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถรับมือกับสิ่งต่าง ๆ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องนัดให้กลับมารักษาอีก

ทำไมถึงต้องทำจิตบำบัด ?

การทำจิตบำบัดมีประโยชน์ในการรักษาโรคหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ รวมถึงโรควิตกกังวล โรคจิตเภท โรคการกินผิดปกติ การมีอารมณ์แปรปรวน การมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ การใช้สารเสพติด หรืออาการทางจิตอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งการทำจิตบำบัดอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับการใช้ยาต้านเศร้าได้ในบางกรณี นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาหรือความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งคนในครอบครัว คู่รัก หรือเพื่อนร่วมงาน ก็อาจได้รับประโยชน์จากการทำจิตบำบัดได้ด้วยเช่นกัน

สัญญาณที่บ่งบอกว่าควรไปพบจิตแพทย์

หากกำลังเผชิญปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ อารมณ์ และความคิด ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการทำจิตบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีความรู้สึกหรือพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • รู้สึกซึมเศร้า โกรธ หรือเครียด ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาในการทำงาน การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การทะเลาะเบาะแว้งกับคู่รักหรือคนในครอบครัว รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และคุณภาพชีวิต
  • รู้สึกไร้ที่พึ่งพา หมดหนทางในการดำเนินชีวิต หรือเผชิญกับความเศร้าหมองมาเป็นเวลานาน
  • รู้สึกว่าปัญหาที่กำลังประสบไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น แม้จะพยายามอย่างมาก หรือได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้างแล้วก็ตาม
  • รู้สึกไม่มีสมาธิหรือไม่จดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมาย สิ่งรอบตัว รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก ไม่คิดบวก และมักคิดว่าจะมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นเสมอ
  • หันไปพึ่งพาสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ มีพฤติกรรมก้าวร้าว คิดทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น