หลายคนอาจคิดว่าจุกแน่นลิ้นปี่เป็นเรื่องธรรมดาและจุกแน่นลิ้นปี่จากหลายสาเหตุก็สามารถรักษาได้อย่างง่ายดาย แต่แท้จริงแล้ว อาการดังกล่าวอาจรุนแรงมากขึ้นหรือก่อให้เกิดภาวะสุขภาพที่รุนแรงตามมาได้ ผู้ป่วยจึงไม่ควรชะล่าใจและละเลยในการรักษา โดยสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด คือการทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการจุกแน่นลิ้นปี่นั่นเอง
จุกแน่นลิ้นปี่เป็นความเจ็บปวดหรือการรู้สึกไม่สบายใต้ซี่โครงบริเวณหน้าท้องส่วนบน มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการทั่วไปอื่น ๆ ของระบบย่อยอาหาร ซึ่งมีตั้งแต่แสบร้อนกลางอก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง อิ่มเร็ว ไปจนถึงเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม สัญญาณอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุด้วย
สาเหตุของจุกแน่นลิ้นปี่
จุกแน่นลิ้นปี่อาจเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกและบริเวณลำคอ ซึ่งปกติแล้วกรดไหลย้อนมักทำให้เกิดอาการ เช่น แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก เจ็บคอ เสียงแหบ รู้สึกเหมือนมีก้อนภายในคอ ไอเรื้อรัง เป็นต้น
- อาหารไม่ย่อย อาจเกิดจากการพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี เช่น กินอาหารในปริมาณมาก กินอาหารเร็วเกินไป กินอาหารมันและอาหารที่มีรสเผ็ด เป็นต้น รวมถึงปัญหาทางสุขภาพและการใช้ยาบางชนิด โดยอาหารไม่ย่อยมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และอาเจียน
- ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง คือภาวะที่ร่างกายไม่อาจย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมด โดยน้ำตาลชนิดนี้พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีเอนไซม์แลคเตสที่ช่วยในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสในปริมาณน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป หรือการดื่มจัดมาเป็นเวลานานอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่การมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจก่อให้เกิดภาวะทางสุขภาพอันเป็นสาเหตุของจุกแน่นลิ้นปี่อย่างโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือโรคตับ
- การรับประทานอาหารมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ป่วยจุกแน่นลิ้นปี่ได้เช่นกัน เนื่องจากไปทำให้กระเพาะอาหารขยายตัวจนเกิดแรงดันต่ออวัยวะโดยรอบ ก่อให้เกิดอาการปวดลำไส้ อีกทั้งกรดในกระเพาะอาหารและของเหลวต่าง ๆ อาจไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร จนทำให้แสบร้อนกลางอกและเป็นกรดไหลย้อนได้
- โรคไส้เลื่อนกะบังลม เกิดขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งของกระเพาะอาหารเคลื่อนตัวไปยังบริเวณหน้าอกผ่านทางช่องโหว่ของกะบังลม อาจทำให้เกิดอาการ เช่น อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ระคายเคืองหรือเจ็บคอ เรอเสียงดัง เป็นต้น
- หลอดอาหารอักเสบ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ การใช้ยา หรือกระทั่งการติดเชื้อ หากไม่เข้ารับการรักษาอาจส่งผลให้หลอดอาหารเป็นแผลได้ โดยทั่วไป มักทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือบริเวณลำคอ มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ไอ หรือมีปัญหาในการกลืน
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคภูมิคุ้มกัน หรือกระเพาะอาหารถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง มักทำให้เกิดอาการ เช่น แสบร้อนกลางอก ปวดแสบท้อง ปวดตื้อ จุกเสียด จุกแน่นลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- แผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือใช้ยาบางชนิดอย่างยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มากเกินไปอาจส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กถูกทำลายจนเป็นแผล อาการที่พบได้บ่อยคือปวดท้องหรือแสบที่กระเพาะอาหาร และยังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มง่าย ท้องอืด เรอ แสบร้อนกลางอก และสัญญาณการมีเลือดออกอย่างเหนื่อยล้า ผิวซีดหรือหายใจไม่อิ่มร่วมด้วย
- การตั้งครรภ์ ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกระเพาะอาหาร ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอโมนส์และระบบย่อยอาหารอาจทำให้คนท้องมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ อีกทั้งยังมีอาการแสบร้อนกลางอกเกิดขึ้นบ่อยครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์ที่จุกแน่นล้นปี่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้
นอกจากนี้ อาการจุกแน่นลิ้นปี่ยังอาจเกิดได้จากโรคและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบย่อยอาหารเช่น ภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง (Barrett’s Esophagus) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อน โรคถุงน้ำดีอักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคมะเร็ง ลำไส้หรือถุงน้ำดีอุดตัน อาการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นอันตรายร้ายแรงอย่างภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
วิธีจัดการกับจุกแน่นลิ้นปี่
การรักษาอาการจุกแน่นลิ้นปี่แตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- ผู้ที่รับประทานอาหารมากจนเกินไปอาจปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือการใช้ชีวิต โดยหันมาพึ่งพาอาหารเพื่อสุขภาพอย่างขิง ดื่มน้ำให้มากขึ้นในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หรือออกกำลังกายเป็นประจำประมาณ 30 นาทีต่อวัน
- หากเกิดจากการใช้ยาบางชนิดอย่างยาในกลุ่มเอ็นเสด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาเหล่านั้น และเลือกใช้เป็นยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรด เพื่อบรรเทาอาการปวดแทน
- หากมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารอย่างกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุของอาการจุกแน่นลิ้นปี่ ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเข้าช่วย
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยจุกแน่นลิ้นปี่อย่างรุนแรง อาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และหากรับประทานยาหรือรักษาด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว แต่อาการจุกแน่นลิ้นปี่ยังไม่ดีขึ้นและคงอยู่นานกว่า 2-3 วัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีปัญหาในการหายใจหรือการกลืน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหงื่อแตก หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว