ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน แต่การติดโทรศัพท์หรือการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เราเกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว บทความนี้จึงรวบรวมสัญญาณการติดโทรศัพท์และวิธีปรับพฤติกรรมมาฝากกัน
แม้การติดโทรศัพท์จะดูไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด แต่จริง ๆ แล้วพฤติกรรมนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ การทำงาน หรือความสัมพันธ์ได้ เช่น รู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธง่าย นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง ความสัมพันธ์มีปัญหา ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง หรืออุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน
สัญญาณของการติดโทรศัพท์ที่ควรสังเกต
ลักษณะแบบไหนเข้าข่ายติดโทรศัพท์
- มักใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดในเวลาที่เบื่อหรืออยู่คนเดียว
- ใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานมาก หรือใช้โทรศัพท์ในหลาย ๆ รูปแบบสลับกันไป เช่น ใช้บริการเว็บไซต์ ใช้สนทนากับผู้อื่น เล่นเกม เป็นต้น
- ตื่นมาเช็กโทรศัพท์บ่อย ๆ กลางดึก หรือการใช้โทรศัพท์รบกวนการนอนหลับของตน
- รู้สึกเป็นกังวล หงุดหงิด หรือร้อนใจเมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์
- การใช้โทรศัพท์เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บ รวมไปถึงส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์
- คนรอบข้างกังวลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ของตนเอง
- พยายามจะเลิกใช้โทรศัพท์แต่กลับล้มเลิกโดยเร็ว
- แสดงพฤติกรรมรุนแรงเมื่อต้องตัดขาดจากโทรศัพท์
เคล็ดลับป้องกันการติดโทรศัพท์ง่าย ๆ
หากรู้ตัวว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของตนเองส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือการทำงาน นี่อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง ความสัมพันธ์กลับมาดีดังเดิม และทำงานได้ดีเหมือนเก่า โดยอาจทำตามวิธีต่อไปนี้
-
หาสิ่งที่รบกวนจิตใจให้เจอ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่เราใช้โทรศัพท์มากเกินไปอาจเป็นเพราะต้องการหลีกหนีจากปัญหาที่กวนใจหรือสร้างความกังวลใจให้เราอยู่ เนื่องจากปัญหานั้นยากและซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ หากเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจปัญหาและลองแก้ไขในเบื้องต้น ก็อาจทำให้ทั้งปัญหาและพฤติกรรมติดโทรศัพท์ลดน้อยลงได้
-
ปรับการตั้งค่าของโทรศัพท์
ปิดการแจ้งเตือนของทุกการใช้งานในโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้เสียงเตือนนั้นดึงความสนใจของเรา จนต้องหันไปคว้าโทรศัพท์มาเช็คการแจ้งเตือนใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์หลากหลายในเครื่องเดียว อย่างการเล่นเกมหรือแชต ตั้งค่าความสว่างหน้าจอให้น้อยลงหรือเป็นโทนสีเทา เพื่อไม่ให้รบกวนขณะนอนหลับ รวมทั้งตั้งรหัสผ่านที่หน้าจอโทรศัพท์ เพื่อให้การใช้งานในแต่ละครั้งยุ่งยากมากขึ้น
-
วางโทรศัพท์ไว้นอกห้องนอน
ลองวางหรือชาร์จโทรศัพท์ไว้นอกห้องบ้าง และพยายามไม่ใช้นาฬิกาปลุกของโทรศัพท์ แต่ให้ซื้อนาฬิกาปลุกที่ถูกใจสักเครื่องมาตั้งไว้แทน เพื่อจะได้พึ่งพาโทรศัพท์น้อยลง
-
ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
การใช้เวลาทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สนใจในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นจะดึงความสนใจของเราให้ออกจากโทรศัพท์ได้ และหันไปโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ มีสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากขึ้น เช่น วาดรูป แต่งเพลง เล่นกีฬา ปลูกป่า เป็นอาสาสมัคร เป็นต้น
-
เข้ารับการบำบัด
จิตบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการรักษาทางจิตรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ พฤติกรรม และความคิดที่มีความผิดปกติให้มีอาการดีขึ้น โดยจะมีจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดมาพูดคุยและให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นว่า จิตบำบัดอาจช่วยปรับสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับการติดโทรศัพท์ได้ วิธีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม หากวิธีข้างต้นใช้ไม่ได้ผล รู้สึกว่าตนเองติดโทรศัพท์มากขึ้น หรือคนรอบข้างเตือนเรื่องการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์หรือนักบำบัดอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยอาจต้องใช้การบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือติดโทรศัพท์ (Digital Detox) ร่วมด้วย