หลายคนเชื่อว่าการดื่มเบียร์เป็นประจำนั้นทำให้อ้วนลงพุง แต่จะจริงเท็จอย่างไร ? ทำไมดื่มเบียร์แล้วอ้วน ? บทความนี้มีคำตอบมาฝากกันค่ะ !
เรื่องน่ารู้ของเบียร์
เบียร์ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำมาจากธัญพืชอย่างข้าวสาลี ข้าวไรย์ หรือข้าวบาร์เลย์ หมักเข้ากับยีสต์ และใส่ดอกฮอปส์เพื่อเพิ่มรสขม ซึ่งช่วยตัดรสหวานที่มาจากน้ำตาลในธัญพืช ผู้ผลิตบางรายอาจเพิ่มวัตถุดิบอื่นเข้าไปเพื่อสร้างรสชาติที่แปลกใหม่ด้วย เช่น ผลไม้ สมุนไพร หรือเครื่องเทศ เป็นต้น
เบียร์แต่ละยี่ห้ออาจมีปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป สังเกตได้จากค่า ABV หรือ Alcohol By Volume ที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แสดงถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร หากเบียร์ชนิดนั้นระบุค่า ABV 4 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเบียร์นี้ในปริมาณ 100 มิลลิลิตรจะมีแอลกอฮอล์อยู่ 4 มิลลิลิตร ซึ่งโดยทั่วไปเบียร์ที่จำหน่ายตามท้องตลาดมักมีค่า ABV อยู่ 4-6 เปอร์เซ็นต์ แต่บางยี่ห้ออาจมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่าหรือมากกว่านั้น
นอกจากปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน เบียร์แต่ละประเภทยังมีสีและรสชาติที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต เวลาบ่ม และวัตถุดิบที่ผู้ผลิตแต่ละรายใช้ โดยลาเกอร์เบียร์ ซึ่งมักมีสีเหลืองอ่อนและใส เป็นเบียร์ประเภทหนึ่งที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด และได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในหมู่ผู้บริโภคคนไทย
เบียร์มีกี่แคลอรี่ ?
เบียร์แต่ละประเภทมีปริมาณแคลอรี่แตกต่างกัน โดยเบียร์ขนาดมาตรฐาน 355 มิลลิลิตรที่มีค่า ABV 4 เปอร์เซ็นต์ จะให้พลังงานประมาณ 153 แคลอรี่ ซึ่งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 13 กรัม โปรตีน 2 กรัม และไขมัน 0 กรัม ทั้งนี้ เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าจะให้พลังงานมากกว่า เพราะแอลกอฮอล์ 1 กรัมนั้นให้พลังงานมากถึง 7 แคลอรี่
นอกจากนั้น เบียร์ยังประกอบไปด้วยสารอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการ อย่างโซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม แต่ก็มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เครื่องดื่มชนิดนี้จึงไม่เหมาะเป็นแหล่งสารอาหารหลักของร่างกาย
ดื่มเบียร์ทำให้อ้วนจริงไหม เพราะอะไรกัน ?
การดื่มเบียร์ปริมาณมากหรือดื่มเป็นประจำอาจทำให้ปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดการสะสมตามส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว ซึ่งอาจทำให้คุณกลายเป็นคนอ้วนลงพุงได้โดยไม่รู้ตัว
หากใครยังสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาดูคำอธิบายต่อไปนี้กัน !
- เบียร์มีแคลอรี่สูง เมื่อเปรียบเทียบในปริมาณลิตรต่อลิตร เบียร์อาจให้แคลอรี่สูงเทียบเท่ากับน้ำอัดลมเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้รู้สึกอยากอาหารด้วย แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็อาจทำให้นักดื่มกินอาหารเยอะขึ้นได้ นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักกันว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง โดยผู้ที่ดื่มเบียร์แล้ว แต่ยังรับประทานอาหารปริมาณเท่าเดิม ก็อาจมีแนวโน้มได้รับแคลอรี่เกินจากเกณฑ์ที่กำหนดได้
- เบียร์ขัดขวางการเผาผลาญไขมัน กระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์นั้นก่อให้เกิดของเสียที่เรียกว่าอะซิเตทและอะซีตัลดีไฮด์ เมื่อสมองตรวจจับสารทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ จะส่งสัญญาณให้ร่างกายหยุดเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ในตัว ในขณะเดียวกันก็สั่งให้ร่างกายแปลงของเสียที่ย่อยจากแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปให้กลายเป็นไขมันด้วย การดื่มเบียร์เป็นประจำจึงอาจทำให้ระดับไขมันในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บางงานวิจัยกลับพบว่า การดื่มเบียร์ในปริมาณที่พอดีหรือน้อยกว่า 500 มิลลิลิตร/วัน อาจไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักตัวและไขมันรอบเอว ดังนั้น หากจำเป็นต้องดื่มเบียร์ ควรดื่มแต่พอดีจะส่งผลดีที่สุด
- เบียร์มีสารไฟโตเอสโตรเจน ไฟโตเอสโตรเจนเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นโดยพืช มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ต้นฮอปส์ที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการหมักเบียร์จัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีสารไฟโตเอสโตรเจนสูง การดื่มเบียร์จึงอาจส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายของเพศชาย ด้วยเหตุนี้ ผู้ชายที่ดื่มเบียร์จึงอาจเกิดภาวะฮอร์โมนแปรปรวน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันรอบเอวได้
อันตรายของไขมันรอบเอว
หนุ่ม ๆ สาว ๆ สายปาร์ตี้ที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์อาจอ้วนลงพุงได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหานี้อาจทำให้หลายคนขาดความมั่นใจจนไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำตัวเก่ง แต่ยิ่งไปกว่านั้น พุงหรือไขมันรอบเอวยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ดังนั้น ทุกคนจึงควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ แต่พอดี และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะอ้วนลงพุงและโรคต่าง ๆ ตามมา
ลดไขมันรอบเอวได้อย่างไร ?
ผู้ชายไม่ควรมีขนาดรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตรขึ้น หากคุณกำลังมีปัญหาอ้วนลงพุงหรือมีไขมันรอบเอว การลดไขมันรอบเอวที่ได้ผลที่สุด คือ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากหรือดื่มเป็นประจำยังทำให้คุณอ้วนขึ้นด้วย ผู้ชายจึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2 หน่วยบริโภค ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 หน่วยบริโภค (ตัวอย่าง 1 หน่วยบริโภคของเบียร์ คือ เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% ปริมาณ 360 มิลลิลิตร) นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการกินขนมขบเคี้ยวระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้กินอาหารก่อนดื่มหรือกินระหว่างดื่มแอลกอฮอล์แทน