ตรวจตา เป็นวิธีตรวจสำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย เพราะหากการมองเห็นผิดปกติอาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เช่น การเขียน อ่าน ทำอาหาร หรือขับรถ จึงเป็นการตรวจที่ไม่ควรมองข้ามแม้จะยังไม่มีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา หรือการมองเห็นเสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้นก็ตาม
การตรวจตาโดยจักษุแพทย์จะมีทั้งการตรวจแบบทั่วไปและการตรวจอย่างละเอียด โดยการตรวจตาทั่วไปจะรวมถึงการตรวจการมองเห็นหรือตรวจการตอบสนองของรูม่านตาด้วยเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อหาโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและอาจตรวจเพิ่มเติมตามอาการของแต่ละคนด้วย บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจตามาฝากกัน
เมื่อไหร่ควรไปตรวจตา?
การตรวจตาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอายุ สุขภาพร่างกายและความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติในดวงตา โดยความถี่ของการตรวจตาสามารถแบ่งตามช่วงวัยดังนี้
- เด็กเล็ก ควรเข้ารับตรวจตาเป็นประจำจากจักษุแพทย์หรือกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่พบได้ทั่วไปในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีอย่างโรคตาขี้เกียจ ตาเข หรือตาเหล่
- เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 1–2 ปี แม้จะไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือสมาชิกในครอบครัวไม่มีประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติด้านการมองเห็น หรือเข้ารับการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และไม่มีความผิดปกติในดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจตาทุก ๆ 2 ปี
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1–2 ปี
ทั้งนี้ หากเคยมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่อาจนำไปสู่การเกิดความผิดปกติกับดวงตาอย่างโรคเบาหวานหรือใช้ยาที่มีผลข้างเคียงอย่างรุนแรงต่อดวงตาควรเข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอหรือตามดุลยพินิจของแพทย์
เมื่อตรวจตา แพทย์จะตรวจหาอะไรบ้าง?
การตรวจตาในเบื้องต้นจะใช้เวลาไม่นานและไม่ยุ่งยาก ซึ่งวิธีตรวจตาในแต่ละขั้นจะขึ้นอยู่กับอายุ สภาพดวงตาและประวัติทางการแพทย์ทั้งของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว โดยในขั้นตอนแรก แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพดวงตาและการมองเห็น สุขภาพร่างกายทั่วไป ยาที่กำลังใช้อยู่ และประวัติทางการแพทย์ของสมาชิกในครอบครัว หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติบริเวณดวงตา แพทย์จะสอบถามรายละเอียดของอาการ ระยะเวลาที่มีอาการและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง จากนั้น แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีต่อไปนี้
การตรวจวัดสายตา
แพทย์จะให้ผู้ป่วยอ่านตัวเลขหรือตัวอักษรบนแผ่นชาร์ทวัดการอ่าน (Snellen Chart) ที่จะเล็กลงเรื่อย ๆ ในแต่ละบรรทัดจากบนลงล่าง หรือแสดงตัวหนังสือหรือรูปภาพบนจอภาพแล้วจึงประเมินการมองเห็นในระยะไกลเพื่อวัดสายตา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องปิดตาครั้งละ 1 ข้างขณะตรวจ
การตรวจความดันลูกตา
แพทย์จะตรวจดูความดันภายในลูกตาเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน โดยแพทย์จะเป่าลมไปที่ดวงตาหรือหยดยาชาไว้ที่ดวงตาก่อนจะวางอุปกรณ์วัดความดันใกล้หรือติดกับพื้นผิวดวงตา ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจผู้ป่วยควรทำตัวผ่อนคลายและหายใจเข้าออกตามจังหวะปกติเพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจได้สะดวกขึ้น
การตรวจจอประสาทตาและเส้นประสาทตา
แพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจดูว่าจอประสาทตาและเส้นประสาทตาได้รับความเสียหายหรือมีสัญญาณอาการจากปัญหาสุขภาพใด ๆ หรือไม่ แต่ดวงตาของผู้ป่วยอาจไวต่อแสงเป็นเวลา 2–3 ชั่วโมงหลังการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไปตรวจตาจะต้องไม่ลืมนำแว่น คอนแทคเลนส์ และยาตามใบสั่งแพทย์ไปด้วย อีกทั้งยังควรพกแว่นกันแดด เนื่องจากแพทย์อาจทำการหยอดยาขยายม่านตา โดยหลังการตรวจแพทย์จะแจ้งให้ทราบว่าผู้ป่วยจะต้องตรวจตาบ่อยหรือไม่ในอนาคต
วิธีตรวจตาแบบอื่น ๆ
หลังการตรวจสุขภาพตาทั่วไปแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับการตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความจำเป็น เช่น
- การทดสอบตาบอดสี โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยระบุสีที่เห็นจากชุดภาพวงกลมขนาดใหญ่ โดยแต่ละภาพจะมีจุดสีเล็ก ๆ รวมกันเป็นรูปตัวเลขหรือสัญลักษณ์ซ่อนอยู่ ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยตาบอดสีได้
- การตรวจด้วยเครื่องสแกนจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography: OCT) เพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นการสะสมของของเหลวในบริเวณจอประสาทตา
- การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี เพื่อตรวจดูเส้นเลือดและโครงสร้างรอบดวงตาซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาลอก จอประสาทตาเสื่อม พังผืดที่จอตา หรือมะเร็งตาบางชนิดได้
- การตรวจด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit Lamp Examination) เพื่อตรวจบริเวณเปลือกตา ขนตา กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา และของเหลวช่องม่านตาที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา
นอกจากการตรวจตาเป็นประจำแล้ว การดูแลดวงตาด้วยวิธีอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียวอย่างผักปวยเล้งและผักคะน้า หรือปลาที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 อาทิ ปลาแซลม่อน ปลาซาร์ดีน และปลาแมกเคอเรล การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ใช้สายตาติดต่อกันนานจนเกินไป
รวมถึงการสวมแว่นตาหรือแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาขณะเล่นกีฬา ทำงานช่าง หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ล้างมือและคอนแทคเลนส์ให้สะอาดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะการดูแลให้มีสุขภาพตาที่แข็งแรงนั้นจะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายส่วนอื่นแข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน