ถามแพทย์

  • ปวดใต้ลิ้นปี่ นอนคว่ำและตะแคงไม่ได้ หายใจไม่คล่อง คลื่นไส้ กินยาธาตุน้ำขาวไม่ดีขึ้น เป็นอะไร

  •  Pattamawee
    สมาชิก
    ปวดใต้ลิ้นปี่ นอนคว่ำและนอนคะแคงไม่ได้ปวดมาก เวลาปวดจะหายใจไม่ค่อยคร่อง และมีอาการ คลื้นไส้ร่วมด้วยแต่ไม่อาเจียร ไม่ทราบว่าปวดจากอะไรเลยกินยาธาตุน้ำขาวไป แต่อาการไม่เบาลงเลย อยากทราบว่าเป็นเกี่ยวกับอะไรค่ะ

     สวัสดีค่ะ คุณ Pattamawee,

                   อาการปวดบริเวณลิ้นปี่ หายใจไม่คล่อง นอนตะแคงไม่ได้ คลื่นไส้ อาจเป็นอาการของ

                  - โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะรู้สึกปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                  - กรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ คือปวดแสบร้อนหรือจุกบริเวณลิ้นปี่และหน้าอก อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอตลอดเวลา คลื่นไส้หลังรับประทานอาหาร เป็นต้น

                    แนะนำในเบื้องต้น ให้เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย โดยอาหารประเภทแป้ง จะย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ และเนื้อสัตว์ประเภทปลา กุ้ง ไก่ จะย่อยง่ายกว่าเนื้อวัวหรือเนื้อหมู และเนื้อที่สุกจะย่อยง่ายกว่าเนื้อดิบ อาการที่ต้มจะย่อยกว่าอาหารที่ทอด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ควรทานแต่ครั้งละพอประมาณ ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป โดยอาจแบ่งอาหารออกเป็นหลายมื้อขึ้น เช่น 4-5 มื้อ ทานให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ และห้ามนอนทันทีหลังทานอาหาร ควรนอนหลังทานไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง การนอนในท่าตะแคงซ้ายหรือคว่ำ อาจทำให้ยิ่งจุกแน่นและปวดได้มากขึ้น เนื่องจากเกิดการกดทับกระเพาะอาหาร แนะนำควรนอนตะแคงขวาหรือนอนหงายค่ะ

                    นอกจากนี้ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงช็อกโกแลต และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ ห้ามทานยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ ยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นต้น รวมถึงยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

                      สำหรับยาที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคของกรดไหลย้อน ได้แก่ ยาลดกรดชนิดต่างๆ เช่น ยาธาตุน้ำขาว หากทานแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจทานยาที่ยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine), ยาโอเมพราโซล (omeprazole) ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น

                      หากได้ปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการทานยา แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบอายุรแพทย์ทางเดินอาหารเพื่อประเมินอาการและรักษาในขั้นต่อไปค่ะ