ท่านอน นอนท่าไหนให้หลับสบายและมีสุขภาพดี

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละคืนช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพดี โดยท่านอนที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยให้หลับสนิทและตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นสบายตัวได้ ส่วนท่านอนบางท่าก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้น การเลือกท่านอนที่ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการนอนอย่างเต็มที่และมีพลังสำหรับเริ่มต้นเช้าวันใหม่เสมอ

Sleeping Positions

ท่านอนสำคัญอย่างไร ?

ท่านอนที่เหมาะสมจะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น เมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า จิตใจสดชื่นเบิกบาน ในทางตรงกันข้าม การอดหลับอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเช่นกัน โดยทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนล้า หน้าตาไม่สดใส จิตใจหดหู่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า รวมถึงการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น

เลือกท่านอนอย่างไรให้เหมาะกับตนเอง ?

ท่านอนแต่ละท่าล้วนมีลักษณะการนอนที่ส่งผลแตกต่างกันออกไป และแต่ละคนก็มีท่านอนที่ชอบแตกต่างกัน บางคนอาจชอบนอนหงายหรือนอนคว่ำ บางคนอาจชอบนอนตะแคง ทว่าท่านอนที่ถนัดนั้นอาจไม่เหมาะกับลักษณะร่างกายและปัจจัยสุขภาพของตน จึงควรเลือกท่านอนที่เหมาะสมกับสรีระและสุขภาพของตนมากที่สุด เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพในการนอน เกิดผลดีต่อสุขภาพโดยรวมต่อไป

โดยเด็กและผู้ที่มีสุขภาพดีอาจนอนในท่าที่ตนเองถนัดได้ เพื่อให้นอนหลับสบายตัวตลอดคืน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ที่มีริ้วรอยบนใบหน้า ปวดคอและหลัง มักตื่นนอนขึ้นมาตอนกลางดึก นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ควรเลือกท่านอนที่เหมาะสมแก่ตนเองโดยศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละท่าให้ดีก่อน เพื่อรักษาสุขภาพและช่วยบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ ให้ทุเลาลงได้

ข้อดีและข้อเสียของท่านอนแบบต่าง ๆ

ท่านอนหงาย

การนอนหงายโดยวางแขนราบขนานข้างลำตัวหรือนอนหงายกางแขนและขาเป็นท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ เพราะนอกจากท่านี้จะช่วยรักษาสรีระให้ศีรษะ ลำคอ และหลังอยู่ในแนวตรงซึ่งช่วยป้องกันอาการปวดเมื่อยคอและหลัง ยังถือเป็นท่านอนที่ช่วยป้องกันภาวะกรดไหลย้อนได้ดี และเหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจปัญหาผิวพรรณและความงาม เพราะช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและช่วยรักษารูปร่างทรวงอกให้อยู่ทรงได้ดีกว่าท่าอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับซึ่งทำให้นอนหลับไม่สนิทและทำให้คุณภาพของการนอนไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงายเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง รวมทั้งท่านอนหงายอาจทำให้หลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรีที่ไปเลี้ยงสมอง คอ และใบหน้าอุดตันได้ด้วย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจจึงควรเลือกท่านอนตะแคงแทน แต่หากถนัดนอนในท่านี้ ควรใช้หมอนหรือม้วนผ้ารองใต้เข่าเพื่อลดอาการปวดหลังที่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติม

ท่านอนตะแคง

บางคนอาจถนัดนอนท่าตะแคงซ้ายหรือขวา ซึ่งแต่ละคนก็อาจวางตำแหน่งมือและแขนขาต่างกัน โดยท่านอนตะแคงวางแขนแนบขนานไปกับลำตัวถือเป็นท่านอนตะแคงที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าท่าอื่น ๆ เพราะช่วยรักษากระดูกสันหลังให้เหยียดตรงซึ่งป้องกันอาการปวดเมื่อยคอและหลังได้ และยังช่วยลดอาการนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะกรดไหลย้อนได้ และท่านอนนี้ยังเหมาะสำหรับหญิงมีครรภ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ท่านี้มีข้อเสียตรงที่อาจทำให้ใบหน้ามีริ้วรอยเหี่ยวย่นและหน้าอกหย่อนคล้อยได้ ส่วนการนอนตะแคงแล้วโดยโอบกอดคู่รักจากด้านหลัง แม้ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่อาจทำให้ตื่นนอนตอนกลางดึกบ่อยได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ชอบนอนในท่านี้ควรสอดหมอนหรือผ้าระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้างเพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณสะโพกด้วย

ท่านอนขดตัว

การนอนขดตัวเป็นท่านอนในลักษณะตะแคงซ้ายหรือขวาโดยงอเข่าขึ้นมาชิดหน้าอกและก้มหน้า ท่านี้ช่วยให้นอนกรนน้อยลงและเป็นท่าที่เหมาะสำหรับหญิงมีครรภ์ เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดีและช่วยลดแรงกดของมดลูกลงสู่บริเวณตับได้ ท่านอนนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย เพราะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการนอนขดตัวช่วยให้ของเสียจากสมองที่ทำให้เกิดโรคในระบบประสาทถูกกำจัดออกไปได้ดีกว่าการนอนหงายหรือนอนคว่ำ แต่ท่านอนขดตัวอาจเป็นสาเหตุให้ปวดเมื่อยคอและหลัง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า รวมทั้งอาจทำให้หน้าอกหย่อนคล้อยเช่นเดียวกับท่านอนตะแคงแบบอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ชอบนอนในท่านี้ควรยืดเหยียดร่างกายไม่ให้อยู่ในลักษณะโค้งจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้หายใจสะดวกมากขึ้นด้วย

ท่านอนคว่ำ

การนอนคว่ำในลักษณะหันหน้าไปทางด้านซ้ายหรือขวาโดยซุกแขนไว้ใต้หมอนหรือวางแขนข้างศีรษะอาจเหมาะสำหรับผู้ที่นอนกรน เพราะเป็นท่าที่ช่วยให้หายใจได้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็อาจเป็นท่าที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เพราะต้องคอยขยับร่างกายบ่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และยังทำให้มีแรงกดบนข้อต่อและกล้ามเนื้อซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการเหน็บชาและปวดเมื่อยโดยเฉพาะช่วงคอและหลังส่วนล่าง นอกจากนี้ ท่านอนคว่ำอาจทำให้ใบหน้าเหี่ยวย่นและหน้าอกหย่อนคล้อยได้ ผู้ที่ชอบนอนในท่านี้ควรใช้หมอนนุ่ม ๆ หรือใช้หมอนที่ไม่หนามากนักเพื่อช่วยให้รับกับสรีระได้

ท่านอนสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ

ท่านอนสำหรับผู้ที่นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนตะแคงและการนอนคว่ำช่วยให้หายใจสะดวกมากขึ้น ท่าเหล่านี้จะช่วยลดการนอนกรน และลดความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดไม่รุนแรงได้ โดยท่านอนตะแคงมีข้อดีมากกว่าท่านอนคว่ำตรงที่ไม่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่วนผู้ที่นอนกรน หากนอนหงายควรรองศีรษะด้วยหมอนหลาย ๆ ใบ แต่หากแก้ปัญหาด้วยท่านอนที่เหมาะสมแล้วยังรู้สึกหายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย หรือนอนหลับไม่สนิท ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาการนอนกรนอาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจได้

ท่านอนสำหรับผู้ที่ปวดเมื่อยคอหรือหลัง

การนอนตะแคงเป็นท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดเมื่อยคอหรือหลัง โดยผู้ที่นอนในท่านี้ควรสอดหมอนระหว่างเข่าทั้งสองข้างเพื่อลดแรงกดบริเวณสะโพก ส่วนผู้ที่ปวดเมื่อยหลังส่วนล่างสามารถนอนหงายได้โดยใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อให้หลังอยู่ในลักษณะโค้งตามธรรมชาติ แต่หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ควรลองเปลี่ยนท่านอนหลาย ๆ แบบร่วมกับการใช้หมอนรอง เพื่อหาท่านอนที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด  

ท่านอนสำหรับผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน

ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนหรือมีอาการแสบร้อนกลางอกไม่ควรนอนตะแคงขวา เพราะจะทำให้อาการแย่ลง โดยท่านอนที่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะนี้ คือ ท่านอนตะแคงซ้าย เพราะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้ แต่ควรสอดหมอนระหว่างเข่าทั้งสองข้างเพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณสะโพกด้วย

ท่านอนสำหรับหญิงมีครรภ์

ผู้หญิงตั้งครรภ์อาจนอนตะแคงไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่การนอนตะแคงไปทางซ้ายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดีกว่า จึงเป็นท่านอนที่เหมาะสมแก่คนท้องมากกว่า และหากมีอาการปวดหลังควรวางหมอนไว้บริเวณใต้ท้องเพื่อช่วยรองรับน้ำหนักร่างกาย และสอดหมอนไว้ระหว่างเข่าทั้งสองข้างหรือนอนงอเข่าเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง