นอนกับสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่คนรักสัตว์หลายคนชื่นชอบ เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัย ลดความเหงา ความกังวล และความโดดเดี่ยว เมื่อได้นอนกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจช่วยให้สุขภาพร่างกายและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพบางประการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทราบเช่นกัน
สัตว์เลี้ยงตัวโปรด เช่น สุนัขและแมว อาจส่งเสียงรบกวนในตอนกลางดึก การนอนกับสัตว์เลี้ยงจึงอาจทำให้เจ้าของนอนหลับไม่สนิท กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ หรือนำพาเชื้อโรคมาสู่เจ้าของ เช่น ไวรัส และแบคทีเรีย ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจนอนร่วมกับสัตว์เลี้ยง เจ้าของควรทราบถึงประโยชน์และผลเสียก่อน เพื่อให้การนอนหลับมีคุณภาพ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว
ประโยชน์ของการนอนกับสัตว์เลี้ยง
การนอนกับสัตว์เลี้ยงมีข้อดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตหลายด้าน เช่น
1. ให้ความอบอุ่นและปลอดภัย
การนอนคนเดียวอาจทำให้รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว หลายคนจึงเลือกที่จะนอนกับสัตว์เลี้ยงที่รัก ซึ่งอาจช่วยปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้น มีอาการซึมเศร้าและเหงาน้อยลง ผลการวิจัยพบว่าการนอนกับสุนัขบนเตียง ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากกว่าการนอนร่วมกับคนอื่นหรือแมว โดยเฉพาะวันที่รู้สึกเหงา หรือวันที่ไม่ได้อยู่กับสุนัขทั้งวัน
2. ลดความเครียด
การเลี้ยงสัตว์ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด และสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และอิพิเนฟริน (Epinephrine) นอกจากนี้ การลูบ นอนกอด หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และโดพามีน (Dopamine) ซึ่งทำให้เจ้าของรู้สึกสงบและสบายใจขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การนอนกับสัตว์เลี้ยงจึงช่วยลดความเครียดและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
3. บรรเทาอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า
การเลี้ยงสัตว์สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความรักและผูกพัน ซึ่งทำให้เจ้าของรู้สึกมีเพื่อน ไม่ว้าเหว่ มีเป้าหมายของชีวิตและรู้สึกถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ โดยพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงยังเป็นผู้ฟังที่ดีในยามที่เราวิตกกังวลและซึมเศร้า การเลี้ยงสัตว์จึงช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองได้
4. ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
การนอนและสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยงอาจช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และนอนหลับง่าย ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่เลี้ยงสัตว์มักใช้ยานอนหลับน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ที่มักนอนไม่หลับหรือฝันร้ายบ่อย ๆ นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
5. เสริมสุขภาพโดยรวม
การเลี้ยงสัตว์ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายของเจ้าของให้แข็งแรง โดยผลการศึกษาพบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะทำกิจกรรมที่ใช้แรงและออกกำลังกายมากกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ เสริมร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ และช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง
6. ช่วยในการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
การเล่นกับสัตว์เลี้ยงนับเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมดีขึ้น การนอนกอดและการลูบตามตัวของสัตว์เลี้ยงจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลง และหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ ผลการวิจัยหลายชิ้นพบว่า การเลี้ยงสัตว์ช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ และการเสียชีวิต เช่น
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมากภายในเวลา 5 เดือน หลังจากรับเลี้ยงสุนัข
- เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์
- ผู้ที่เคยมีอาการของโรคหัวใจที่เลี้ยงสุนัข จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลง 65%
7. ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
การเลี้ยงสัตว์อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยพบว่าคนที่เลี้ยงแมวมีโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง เพราะแมวช่วยให้เจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียด คล้ายกับผลการวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าคนที่เลี้ยงสุนัขมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ถึง 31%
ผลเสียต่อสุขภาพจากการนอนกับสัตว์เลี้ยง
การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของบางคนได้ เช่น
1. รบกวนการนอนหลับ
หลายครั้งที่การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจทำให้เจ้าของไม่ได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เนื่องจากคนและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว มีวงจรการนอนหลับที่ต่างกัน สุนัขอาจเห่าหอนเสียงดัง และแมวที่ชอบใช้ชีวิตในตอนกลางคืนอาจปลุกเจ้าของให้มาเล่นด้วยกลางดึก นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงอาจกรนและขับถ่ายกลางดึก ซึ่งรบกวนการนอนหลับของเจ้าของได้
หากนอนเตียงเดียวกับเจ้าของ สัตว์เลี้ยงอาจขยับตัว เช่น เตะ ข่วน หรือสะบัดหางมาโดนเจ้าของ ทำให้เจ้าของรู้สึกตัวตื่น และอุณหภูมิจากร่างกายของสัตว์ เช่น สุนัขและแมว จะสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายคน การนอนร่วมเตียงใกล้กับสัตว์เลี้ยงอาจทำให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายตัวและนอนหลับได้อย่างไม่เต็มที่
2. กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
อาการแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet Allergy) มักพบในผู้ที่เลี้ยงสัตว์ลูกด้วยนมที่มีขน เช่น สุนัข แมว กระต่าย หนูตะเภา และหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในสะเก็ดผิวหนัง (Dander) น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระของสัตว์เลี้ยง ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายในอากาศ หรืออาจติดอยู่บนที่นอน ตามผนัง ผ้าม่าน และพรมในห้องนอน
ผู้ที่แพ้สัตว์เลี้ยงมักมีอาการคัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล น้ำตาไหล และหายใจลำบาก หากสัมผัสสะเก็ดผิวหนังสัตว์โดยตรงอาจทำให้เกิดผื่นคันได้ หากมีอาการแพ้สัตว์เลี้ยง ไม่ควรนอนร่วมเตียงหรือร่วมห้องกับสัตว์เลี้ยง และหมั่นทำความสะอาดห้องนอนและเครื่องนอนเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้
3. อาจทำให้ได้รับเชื้อโรคจากสัตว์
สัตว์เลี้ยงตัวโปรดอาจนำพาเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อรา มาสู่เจ้าของผ่านการถูกกัด ข่วน และเลียผิวหนังที่มีแผลเปิด ซึ่งเชื้อโรคจะแพร่ผ่านน้ำลาย สะเก็ดผิวหนัง และมูลสัตว์ และทำให้เกิดการติดเชื้อ
การติดเชื้อจากสุนัข แมว และสัตวืเลี้ยงอื่น ๆ อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น พิษสุนัขบ้า โรคกลากโรคติดเชื้อซาโมเนลลา โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) และโรคพยาธิตามมา ซึ่งเด็กมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้มากกว่าผู้ใหญ่
นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงอาจมีเห็บ หมัด และไร ซึ่งสามารถกัดคนและทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เช่น มีจุดแดงหรือผื่นขึ้นตามร่างกาย บางคนอาจมีอาการบวมและแสบร้อนบริเวณที่ถูกกัด และอาจนำไปสู่โรคติดเชื้ออื่น เช่น โรคไลม์ (Lyme Disease) ตามมา
4. อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ
การนอนกับสัตว์เลี้ยงที่ดุร้ายและไม่เชื่อฟัง อาจทำร้ายเจ้าของขณะนอนหลับและทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะเด็กที่นอนกับสัตว์เลี้ยงอาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อตามมา
5. ขัดขวางเวลาส่วนตัวของคู่รัก
คู่รักหลายคู่สามารถนอนกับสัตว์เลี้ยงได้โดยที่ไม่มีปัญหาใด ๆ แต่คู่รักบางคู่อาจรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องนอน จึงให้ขนมหรือของเล่นกับสัตว์เลี้ยงและให้ไปนอนนอกห้องแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงขัดขวางการใช้เวลาโรแมนติกของคู่รักในยามค่ำคืน
คนที่ไม่ควรนอนกับสัตว์เลี้ยง
คนที่สามารถนอนกับสัตว์เลี้ยงได้ควรเป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และสามารถฝึกให้สัตว์เลี้ยงนอนร่วมเตียงหรือร่วมห้องได้โดยไม่รบกวนการนอนหลับ แต่คนที่ตื่นง่าย มีปัญหาในการนอนหลับ มีโรคทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ และหอบหืด มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรครุนแรงอื่น ๆ และมีแผลเปิด ไม่ควรนอนกับสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กทารกและเด็กเล็กนอนกับสัตว์เลี้ยง หากผู้ปกครองไม่แน่ใจว่าเด็กโตพอที่จะนอนกับสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ไม่ควรนอนร่วมห้องหรือร่วมเตียงกับสัตว์เลี้ยง หากสัตว์เลี้ยงมีลักษณะดังต่อไปนี้
- สัตว์เลี้ยงที่มีขนาดเล็ก เช่น หนูเจอร์บิล (Gerbils) ชินชิลล่า (Chinchilla) ที่ชอบแทะสิ่งของ และวิ่งไปมา
- สัตว์เลี้ยงที่มีอาการท้องเสีย ยังไม่ได้รับการฝึกขับถ่าย หรือไม่สามารถฝึกให้ขับถ่ายได้
- สัตว์เลี้ยงที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ไม่ยอมนอน ชอบเดินหรือวิ่งไปมา และส่งเสียงกรน
- สัตว์เลี้ยงที่มีเห็บ หมัด และไร
เทคนิคนอนกับสัตว์เลี้ยงอย่างปลอดภัยและหลับสบาย
ข้อแนะนำในการนอนกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดให้หลับสบายทั้งคืนและปลอดภัยต่อสุขภาพ มีดังนี้
- จัดที่นอนของสัตว์เลี้ยงเป็นสัดส่วน โดยอาจวางที่นอนสัตว์เลี้ยงไว้ที่มุมห้องนอน หรือวางใกล้เตียงนอนเจ้าของ ในกรณีที่ให้สัตว์เลี้ยงนอนเตียงเดียวกับเจ้าของ ควรเลือกที่นอนที่มีขนาดใหญ่มากพอสำหรับคนและสัตว์ โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงสุนัขตัวใหญ่ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างนอนหลับได้สบาย
- เจ้าของและสัตว์เลี้ยงควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงรู้ว่าเวลานอนคือการพักผ่อน ไม่รบกวนเจ้าของ และไม่ปลุกเจ้าของก่อนเวลาตื่น
- ฝึกสัตว์เลี้ยงให้เชื่อฟังว่าสามารถเข้าห้องนอนหรือขึ้นเตียงนอนต่อเมื่อเจ้าของอนุญาต และฝึกให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่เจ้าของกำหนดไว้เท่านั้น เช่น อยู่บนเตียงได้ แต่ห้ามเหยียบบนหมอน เพื่อไม่ให้รบกวนเจ้าของตามใจ
- หากสัตว์เลี้ยงไม่เชื่อฟังคำสั่ง เช่น ไม่หยุดเห่า วิ่งไปมาในห้องนอน หรือทำร้ายเจ้าของ ควรให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอนนอกห้องนอน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงเข้าใจว่าไม่ควรทำพฤติกรรมเหล่านี้
- พาสุนัขไปเดินเล่นก่อนเข้านอน เพื่อให้สุนัขได้ขับถ่ายก่อนนอน และทำให้รู้สึกเหนื่อยและหลับได้เร็วขึ้น ไม่ตื่นขึ้นมาขับถ่ายกลางดึก
- ล้างมือห้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระของสัตว์เลี้ยง
- ทำความสะอาดหมอน ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม และเฟอร์นิเจอรอื่น ๆ ในห้องนอนให้สะอาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรคจากสัตว์เลี้ยง
- อาบน้ำดูแลความสะอาดของสัตว์เลี้ยง และใช้ยาป้องกันเห็บหมัด
- พาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนกับตามการนัดหมายของสัตวแพทย์
การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจช่วยคลายเหงา ลดความเครียดและความไม่สบายใจได้ แต่สำหรับบางคน การนอนกับสัตว์เลี้ยงอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการแพ้ และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและติดเชื้อได้ หากนอนกับสัตว์เลี้ยงแล้วทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท หรือมีอาการป่วยใด ๆ ไม่ควรนอนกับสัตว์เลี้ยง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป