นอนดึก ภัยเงียบต่อสุขภาพ

นอนดึกเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของเด็กเล็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ที่อาจทำให้เหนื่อยล้าหรือง่วงระหว่างวัน คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการนอนดึกนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ทราบถึงภัยอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งที่จริงแล้ว การนอนดึกเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน บางคนนอนดึกเพราะเป็นผลข้างเคียงจากโรคหรืออาการบางอย่าง ในขณะที่บางคนนอนดึกเพราะทำกิจกรรมจนเลยเวลา ทั้งนี้ ทุกสาเหตุล้วนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม ก่อนที่จะเสียสุขภาพมากไปกว่าเดิม

นอนดึก

สาเหตุของการนอนดึก
การนอนดึกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น นาฬิกาชีวิตแตกต่างไปจากปกติ โดยนาฬิกาชีวิต หมายถึง รอบการทำงานของร่างกายใน 24 ชั่วโมง ที่ร่างกายเข้าใจอัตโนมัติว่าเวลาใดคือเวลาตื่น เวลาใดคือเวลานอน โดยอาศัยความมืดและความสว่าง ดังนั้น ผู้ที่มีนาฬิกาชีวิตแตกต่างไปจากปกติอาจมีแนวโน้มที่จะนอนดึกได้

การนอนดึกอาจเกิดจากอีกสาเหตุที่เกี่ยวกับเมลาโทนิน (Melatonin) เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายควบคุมการนอนหรือตื่นได้ การนอนดึกจึงอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเมลาโทนินผิดปกติ มีปัญหาหรือได้รับผลกระทบมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • สภาพแวดล้อมตอนนอนไม่เหมาะสม
    ร่างกายอาจเข้าใจว่ายังไม่ถึงเวลานอน ถ้ามีแสงสว่างมากเกินไปหรือมีการส่งเสียงที่ดังเกินไป
  • การเปลี่ยนแปลงตารางเวลานอน
    มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานกะกลางคืนหรือต้องสลับกะอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจึงต้องเปลี่ยนเวลานอนอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้ง่วงหรือเหนื่อยล้าในช่วงที่ทำงานได้ เพราะร่างกายปรับเวลาไม่ทัน
  • เจ็ตแล็ก (Jet lag) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปยังที่ที่โซนเวลาไม่เท่ากัน เช่น ต้องเดินทางไปยังจุดหมายที่โซนเวลาช้ากว่า 10 ชั่วโมง หากเดินทางตั้งแต่เช้า พอไปถึงจุดหมายร่างกายจะเข้าใจตามเวลาเดิมว่าดึกแล้ว ในขณะที่จุดหมายยังอยู่ในช่วงเช้า แต่ร่างกายต้องการการพักผ่อน
  • ผลกระทบจากยาและแอลกอฮอล์
    ยาบางชนิดอาจทำให้รู้สึกง่วงหรืออาจส่งผลให้มีปัญหากับการนอน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน อาจมีผลให้ไม่รู้สึกง่วง จนนอนดึก แต่หากดื่มในช่วงเวลาอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลกระทบ

นอนดึกอาจมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น  โรคสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้ารุนแรง การฟื้นตัวจากอาการโคม่า การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือภาวะอื่น ๆ ดังต่อไปนี้  

  • ภาวะนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน (Delayed Sleep Phase Syndrome: DSPS) เป็นภาวะของผู้ที่นอนหลับหลังจากเวลานอนปกติไป 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น อาจเกิดจากการทำกิจกรรม เช่น ทำการบ้าน เล่นโทรศัพท์หรือเล่นอินเทอร์เน็ตจนดึก ส่งผลให้ตื่นนอนตามเวลาที่ต้องการได้ยา
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับอาจประสบปัญหากับการนอน เช่น นอนไม่หลับทั้ง ๆ ที่ง่วงมาก ซึ่งอาจส่งผลให้นอนดึกหรือนอนน้อย และรู้สึกไม่สดชื่นเวลาตื่น

สาเหตุการนอนดึกของวัยรุ่น

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ประสบปัญหาการนอนดึกค่อนข้างสูง เพราะมักทำกิจกรรมจนดึก เช่น เล่นวิดีโอเกม หรือรอดูรายการทีวีที่ฉายในช่วงกลางคืน พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เพราะการผลิตเมลาโทนินอาจชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม การหาสาเหตุของการนอนดึกนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วมในแต่ละวัน กฎระเบียบอื่น ๆ ในบ้าน ตารางเวลาของผู้ปกครองที่จะต้องกลับบ้านดึกและรีบออกแต่เช้าจึงทำให้ไม่มีเวลาควบคุมดูแลเวลานอนของบุตรหลาน เป็นต้น

ผลเสียจากนอนดึก

การนอนดึกเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย หากไม่รีบแก้ไข อาจต้องประสบปัญหาหรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพจิต การนอนดึกส่งผลถึงอารมณ์หลังจากตื่นนอน เช่น  ความคิดในเชิงลบ ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
  • โรคอ้วน หากเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีไขมันหน้าท้องและมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) และยังมีงานวิจัยระบุว่า การนอนดึกอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นได้ เพราะพบความสัมพันธ์ของค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน
  • โรคเบาหวาน ร่างกายจำเป็นต้องใช้อินซูลิน (Insulin) เพื่อดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด แต่การนอนดึกอาจส่งผลให้ร่างกายหยุดการผลิตอินซูลินออกมา ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้
  • โรคหัวใจ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าผู้ที่นอนหลังเที่ยงคืน อาจะเกิดภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้มากกว่าผู้ที่นอนก่อนเที่ยงคืน แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าการนอนดึกส่งผลให้เป็นโรคหัวใจโดยตรง เพราะผู้ที่เป็นโรคหัวใจจากการนอนดึกนั้น มักมีปัจจัยเสียงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มหนักหรือกินมากเกินไป เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาการนอนดึก

มีหลายวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนดึกได้ อาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันบางอย่างในเบื้องต้น โดยปัญหาการนอนดึกมีวิธีแก้ดังนี้

  • พยายามจัดการกับงานที่เครียดในช่วงต้น ๆ ของวัน ส่วนงานที่ไม่ค่อยใช้ความคิดมาก ให้เก็บไว้ทำในตอนท้ายของวัน
  • กำหนดเวลานอนให้เป็นกิจวัตรโดยมีช่วงเวลาผ่อนคลายก่อนเข้านอน
  • ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียงนอน เช่น ดูทีวี ใช้เตียงนอนเพียงเพื่อนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้น
  • สวมแว่นตาเลนส์สีเหลืองหรือสีส้มอ่อนเมื่อต้องทำงานดึก เพราะจะช่วยป้องกันแสงสีน้ำเงินมากระทบดวงตา และเมื่อถึงบ้านดึก ควรรีบเข้านอนทันที
  • จำกัดการบริโภคคาเฟอีน หรือหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนในช่วงบ่าย  
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์ก่อนนอน เพราะอาจทำให้ต้องตื่นระหว่างคืน แต่หากดื่มแอลกอฮอล์ในตอนเย็น ๆ ก็อาจช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น
  • ลุกจากเตียง หากไม่สามารถหลับได้ภายใน 15-20 นาทีแรก อาจเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ สักพัก พอเริ่มรู้สึกง่วงค่อยกลับไปนอนที่เตียง แต่ห้ามเปิดโทรทัศน์ดูเด็ดขาด เพราะแสงจากจอโทรทัศน์อาจทำให้เราตื่นตัว และอย่าลืมว่าต้องตื่นนอนให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม หากอาการนอนดึกปรากฏรุนแรงขึ้น เป็นมากขึ้นหรือเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรปรึกษากับแพทย์