นอนหงาย ประโยชน์และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

การนอนหงายเป็นการนอนที่ด้านหลังของร่างกายสัมผัสพื้นและเป็นด้านที่รับน้ำหนัก ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่อาจไม่ใช่ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่าง หากคุณรู้ว่าการนอนหงายมีประโยชน์หรือความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยให้คุณสามารถจัดท่านอนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

คุณภาพของการนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากคุณภาพของการนอนหลับดีก็จะช่วยให้คุณสามารถนอนหลับได้สนิท พักผ่อนอย่างเต็มที่ และไม่เกิดภาวะง่วงสะสม ท่านอนแต่ละท่าสามารถส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น การทราบลักษณะท่านอนที่เหมาะสมกับตัวเองและจัดท่านอนอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว

นอนหงาย ประโยชน์และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ประโยชน์ต่อสุขภาพของการนอนหงาย

1. อาจช่วยปกป้องผิวหน้า 

การนอนหงายจะช่วยให้ใบหน้าไม่ต้องแนบสนิทไปกับหมอนมากเกินไป ซึ่งแรงกดหรือแรงเสียดสีเหล่านี้อาจนำไปสู่การเกิดริ้วรอยบนใบหน้า เช่น รอยตีนกา รอยย่นบนหน้าผากหรือร่องแก้มก่อนวัยอันควรได้ อีกทั้งบนหมอนยังมีการสะสมของน้ำมันหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่สามารถทำให้เกิดสิวได้ การนอนหงายจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่อาจช่วยให้ใบหน้าห่างไกลจากสิวนั่นเอง

นอกจากนี้ การนอนหงายอาจช่วยลดอาการบวมรอบดวงตาและใบหน้าจากการคั่งค้างของของเหลวใต้ผิวหนังในระหว่างการนอนหลับได้ โดยควรปรับระดับความสูงของหมอนให้ศีรษะอยู่ในลักษณะที่ยกขึ้นมาเล็กน้อย

2. อาจช่วยปรับปรุงระบบการหายใจ

การนอนในท่านอนคว่ำหรือท่านอนตะแคงอาจทำให้เกิดการกดทับกระบังลม ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับการหายใจ ทำให้หายใจได้ลำบากในระหว่างนอนหลับ ส่วนการนอนหงายและยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยจะไม่กดทับกระบังลมและช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งด้วย เพราะเมื่อยกศีรษะให้อยู่เหนือระดับหัวใจจะช่วยลดการสะสมของเสมหะในทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการคัดจมูก และอาจทำให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น 

3. อาจช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน

ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนอาจมีอาการรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนหากนอนในท่าตะแคงขวา ซึ่งการนอนหงายอาจช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้องและอาการแสบร้อนกลางอกที่เกิดขึ้นได้ โดยท่านอนหงายที่มีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนมากที่สุดคือท่านอนหงายที่ยกศีรษะให้สูงขึ้นประมาณ 20–28 เซนติเมตร แต่สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้หากมีความชันมากเกินไป 

4. อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง 

การนอนหงายจะช่วยลดแรงกดทับบริเวณกระดูกสันหลัง และช่วยให้กระดูกสันหลังเรียงตัวอย่างเหมาะสมในระหว่างการนอนหลับ จึงอาจช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหลังได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง อย่างไรก็ตาม ควรจัดระดับความสูงของหมอนและลักษณะของแขนและขาเมื่อนอนหงายให้เหมาะสม เพื่อให้กระดูกสันหลังเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน

5. อาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากความเครียด

สาเหตุหนึ่งของอาการปวดศีรษะจากความเครียด (Tension-Type Headaches) คือการตึงเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำคอ ซึ่งการนอนหงายเป็นวิธีที่จะช่วยให้ศีรษะ ลำคอ และกระดูกสันหลังเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ส่งผลให้แรงกดทับที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะและลำคอลดลง การนอนหงายจึงอาจช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียดได้นั่นเอง

ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากการนอนหงาย

1. อาจทำให้เกิดอาการปวดคอ

แม้ว่าการนอนหงายจะสามารถช่วยลดแรงกดทับบริเวณลำคอ และช่วยให้ศีรษะ ลำคอ และกระดูกสันหลังเรียงตัวในทิศทางเดียวกันได้ แต่หากนอนหงายโดยยกศีรษะในระดับที่สูงมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดคอได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการปวดคออยู่แล้วอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง ดังนั้นจึงควรเลือกใช้หมอนที่สามารถรองรับศีรษะและลำคอได้อย่างเหมาะสม

2. อาจทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงขึ้น

ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) อาจไม่เหมาะกับการนอนในท่านอนหงาย เพราะอาจเกิดอาการทางเดินหายใจยุบตัวลงในระหว่างการนอนหลับ และเกิดอาการนอนกรนที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หลายอย่าง จึงควรปรับท่านอนให้เป็นท่านอนตะแคงหรือนอนคว่ำ อาจเหมาะสมและดีต่อสุขภาพมากกว่า

3. อาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

ท่านอนหงายไม่ใช่ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ขึ้นไป เนื่องจากน้ำหนักของครรภ์ที่มากขึ้นอาจทำให้มดลูกเกิดการกดทับเส้นเลือด และส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ท่านอนสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเป็นท่านอนตะแคงซ้าย เพราะไม่ทำให้เกิดการกดทับอวัยวะภายในและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีกว่า

แม้ว่าการเลือกท่านอนดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยและไม่สำคัญ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้หลายประการเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อได้รู้แล้วว่าประโยชน์และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากการนอนหงายมีอะไรบ้าง คุณก็คงจะสามารถเลือกปรับท่านอนให้เหมาะสมกับทั้งสรีระและเงื่อนไขสุขภาพของตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้น