หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับความสำคัญของการพักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละคืน แน่นอนว่าการที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้มีสุขภาพดี แต่ในทางตรงกันข้ามหากนอนเยอะเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ ตามมา ในบทความนี้จะมาเล่าถึงสาเหตุของการนอนเยอะเกินไปและความอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
จริง ๆ แล้วจำนวนชั่วโมงของการพักผ่อนที่เหมาะสมจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและคุณภาพการนอนของแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว เด็กทารกต้องการเวลานอนหลับรวมเวลางีบกลางวันเป็นเวลาประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัยอนุบาลต้องการเวลานอนหลับรวมเวลางีบเป็นเวลาประมาณ 10-13 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่นต้องการการนอนหลับเป็นเวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ใหญ่ต้องการนอนหลับเป็นเวลาประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
นอนเยอะเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
นอกเหนือจากพฤติกรรมหรือความเหนื่อยล้าในการทำกิจกรรมแต่ละวัน การนอนเยอะหรือใช้เวลานอนมากเกินไปอาจมีภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียแม้จะได้นอนหลับมากกว่าคนทั่วไป เช่น
- โรคหยุดหายใจขณะหลับ โดยผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างนอนหลับ ทำให้ร่างกายต้องการนอนนานขึ้น และวงจรการนอนหลับถูกรบกวน
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS) เป็นความผิดปกติด้านสมองที่ส่งผลให้เกิดการขยับขาขณะพัก
- การนอนกัดฟัน (Bruxism) ขณะนอนหลับ
- อาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain)
- โรคลมหลับ (Narcolepsy) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองที่ทำให้วงจรการหลับและตื่นแปรปรวนไปจากปกติ
- โรคซึมเศร้า
- โรคนอนมากเกินโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Hypersomnia) โดยจะนอนมากโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนหรือหาสาเหตุไม่ได้
- การใช้ยาบางชนิดหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ นอนเยอะอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคซึมเศร้า อาการปวดหัว เป็นต้น
อันตรายจากการนอนเยอะ
หากพบว่าตนเองต้องการเวลาในการนอนมากกว่า 8-9 ชั่วโมงต่อคืนเพื่อให้รู้สึกถึงการพักผ่อน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย การนอนเยอะเกินไปอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวล อ่อนล้า ไม่มีแรง มีปัญหาด้านความจำ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น อาการปวดหัว โรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน ปวดหลัง ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ การนอนหลับอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายมีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน ลดความเครียด อารมณ์ดี สมองปลอดโปร่ง รวมไปถึงทำหน้าในชีวิตประจำได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าตนเองนอนมากเกินไปหรือรู้สึกอ่อนล้าระหว่างวันแม้ว่าชั่วโมงการนอนเพียงพอแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีช่วยให้นอนในระยะเวลาที่เหมาะสม