นาฬิกาชีวิตกับระบบการทำงานของร่างกาย

นาฬิกาชีวิต (Body Clock) คือวงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน แม้แต่การแปรเปลี่ยนของอุณหภูมิในร่างกาย

นาฬิกาชีวิต

โดยนาฬิกาชีวิตนั้นจะมีรอบเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ตามเวลาโดยทั่วไป ซึ่งนาฬิกาชีวิตจะถูกควบคุมโดยแสงและอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับแสงแดดและมีอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม ร่างกายก็จะเริ่มทำงานตามวงจรในแต่ละวัน โดยวงจรดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าจังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms)

ทว่าคนโดยส่วนใหญ่มักจะคิดว่า นาฬิกาชีวภาพเหมือนกับจังหวะเซอร์คาเดียน ซึ่งในความจริงแล้วทั้ง 2 อย่างนี้แตกต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่มีนาฬิกาชีวภาพแล้ว จังหวะเซอร์คาเดียนจะไม่สามารถทำงานได้ และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามธรรมชาติ

นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างไร ?

ระบบนาฬิกาชีวิตภายในร่างกายจะถูกควบคุมด้วยกลุ่มเซลล์ที่มีชื่อว่า นิวเคลียสซูพราไคแอสมาติก (Suprachiasmatic Nucleus: SCN) ที่อยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการทำงานของยีนเวลา (Clock Genes) สัญญาณที่ถูกส่งออกมาจากกลุ่มเซลล์นี้มีชื่อว่าสัญญาณเอสซีเอ็น อันเกิดจากตอบสนองต่อสัญญาณของแสงหรือความมืด ที่ส่งต่อมาจากระบบประสาทของดวงตา สัญญาณแสงถูกส่งเข้ามา กลุ่มเซลล์นี้ก็แปรสัญญาณที่ได้รับเป็นสัญญาณดังกล่าว และส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบฮอร์โมน ระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย และระบบการทำงานของร่างกายอื่น ๆ

ทั้งนี้ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะหลับหรือตื่นได้นั้น จะขึ้นอยู่กับสัญญาณเอสซีเอ็นที่ส่งมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส หากเป็นตอนเช้าสัญญาณจะส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิมากขึ้น และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และชะลอการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ

ขณะที่เวลากลางคืนสัญญาณจะส่งไปยังระบบฮอร์โมนเพื่อเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน และทำให้คนเราสามารถหลับได้นั่นเอง ทว่าในการนอนหลับนั้น เวลานอนของคนเราอาจไม่ตรงกัน นั่นเกิดขึ้นมาจากการกลายพันธุ์ของยีนเวลา โดยการกลายพันธุ์มี 2 ประเภทคือ

  • ประเภทตื่นเช้านอนเร็ว (Lark Phenotype) คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ตื่นเช้า ทำให้นาฬิกาชีวิตที่เริ่มต้นทำงานแต่เช้า และส่งผลให้เข้านอนเร็ว พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
  • ประเภทตื่นสายนอนช้า (Owl Phenotype) คนกลุ่มนี้จะมักตื่นในตอนกลางวัน หรือตอนบ่าย และจะเข้านอนในช่วงใกล้เช้า นาฬิกาชีวิตของคนกลุ่มนี้จะค่อนข้างสลับกับคนที่ตื่นเช้า พบได้ในกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น และคนที่ทำงานในเวลากลางคืน

นาฬิกาชีวิตส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างไรบ้าง ?

เนื่องจากนาฬิกาชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นนาฬิกาชีวิตจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพได้ โดยหากคนเรานอนหลับผิดเวลา หรือทำงานในเวลากลางคืน ก็จะส่งผลให้ร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เพียงพอ อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายตามมาในภายหลัง

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวิตมีอะไรบ้าง ?

ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อนาฬิกาชีวิต และทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยที่มักส่งผลโดยตรงต่อนาฬิกาชีวิตและการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินได้แก่

  • อาการเจ็ทแลค (Jet Lag) การเดินทางด้วยเครื่องบินระยะไกลที่ต้องผ่านเส้นแบ่งเวลา อาจส่งผลให้นาฬิกาชีวิตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะนาฬิกาชีวิตจะไม่สามารถปรับตัวได้ในทันที และทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย
  • อาการนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน ผู้ที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน และเข้านอนในเวลากลางวัน มักจะประสบปัญหาในการนอนหลับ โดยเฉพาะในช่วงแรก อาจมีภาวะนอนไม่หลับ และง่วงในเวลาทำงาน เนื่องจากนาฬิกาชีวิตไม่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาในการหลั่งสารเมลาโทนินได้ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะสามารถปรับตัวได้
  • อาการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพ บางอย่างมีต่อนาฬิกาชีวิต เช่น อุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะโคม่าหรือภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง เนื่องจากการใช้ยาจะส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางเกิดความผิดปกติ เมื่อร่างกายไม่สามารถนอนได้ตามเวลา นาฬิกาชีวิตก็จะไม่สามารถสั่งงานระบบการทำงานต่าง ๆ ได้เป็นปกติ
  • โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นความผิดปกติในการนอนหลับที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมเวลานอนหลับได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและหลับอย่างกะทันหัน หรือหลับได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีปัญหาในการนอนหลับ และนาฬิกาชีวิตแปรปรวน

รักษาปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวิตได้อย่างไร ?

ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตสามารถรักษาได้ โดยในการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการนอน โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอน และอาจมีการใช้ยาเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเมลาโทนินอย่างเพียงพอ หรือช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เพื่อให้นาฬิกาชีวิตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ โดยมักใช้วิธีการรักษาแตกต่างกันไปตามสาเหตุดังนี้

  • อาการเจ็ทแลค แพทย์อาจแนะนำให้ใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสารเมลาโทนิน เพื่อช่วยให้นาฬิกาชีวิตของผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่การทำงานปกติได้ แต่ทั้งนี้หากใช้ในปริมาณมากก็อาจส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่มีผลวิจัยที่ยืนยันได้ว่าการใช้อาหารเสริมดังกล่าวจะช่วยได้ 100%
  • อาการนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน ในผู้ที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน และเข้านอนในเวลากลางวัน การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในห้องนอน ให้ทึบแสงและเงียบจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและช่วยแก้ปัญหานอนหลับได้ แต่หากนอนไม่หลับ การใช้ยานอนหลับชนิดตามใบสั่งแพทย์ ก็ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการทำงานของนาฬิกาชีวิตได้
  • ปัญหานอนไม่หลับเนื่องจากการเจ็บป่วย วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาคือ หลังจากผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่เป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น พฤติกรรมการนอนหลับ ออกกำลังกายให้มากขึ้น เข้านอนให้ตรงเวลา ก็จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น และส่งผลดีต่อนาฬิกาชีวิต
  • โรคลมหลับ (Narcolepsy) โรคลมหลับเป็นโรคที่ต้องมีการรักษาที่จริงจัง เนื่องจากไม่ได้ส่งผลแค่เพียงปัญหาในการนอนหลับ ดังนั้นหากผู้ป่วยสงสัยว่าป่วยด้วยโรคดังกล่าว ควรไปทำการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน โดยแพทย์อาจตรวจการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาต่อไป

นอกจากนี้ ในรายที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถช่วยรีเซตนาฬิกาชีวิต และทำให้นาฬิกาชีวิตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติได้ เช่น

  • การรักษาด้วยการเลื่อนเวลานอน (Chronotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเวลาในการนอนหลับโดยอาจให้นอนหลับเร็วกว่าเดิม หรือช้ากว่าเดิม 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอาการนอนไม่หลับ โดยวิธีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ จนกว่าวงจรการนอนหลับจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการรักษาด้วยวิธีนี้
  • หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้า เนื่องจากแสงสีฟ้ามาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน มีผลกระทบสำคัญต่อนาฬิกาชีวิตทำให้วงจรการทำงานของร่างกายแปรปรวนส่งผลให้นอนไม่หลับ
  • เลี่ยงการงีบหลับระหว่างวันให้มากที่สุด เพราะจะทำให้วงจรการนอนหลับในเวลากลางคืนเสียไป แต่ถ้าหากมีอาการอ่อนเพลียมาก ๆ ก็ไม่ควรงีบเกิน 20 นาที เพราะหากนานกว่านี้จะทำให้ยิ่งอ่อนเพลียและส่งผลต่อการนอนหลับในตอนกลางคืน
  • เข้านอนให้ตรงเวลา จะช่วยให้นาฬิกาชีวิตสามารถจดจำเวลานอนหลับ และช่วยให้นาฬิกาชีวิตมีวงจรการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้มืดสนิท หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน หากอยากออกกำลังกายก็ควรออกกำลังกายก่อนนอนเบา ๆ ด้วยโยคะจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • สร้างบรรยากาศผ่อนคลายก่อนนอนหลับ สามารถสร้างบรรยากาศเพื่อผ่อนคลายได้ง่าย ๆ ด้วยการฟังเพลงเบา ๆ อาบน้ำอุ่นก่อนนอน หรือจัดที่นอนให้นอนได้สบายมากขึ้น อีกทั้งยังไม่ควรให้อุณหภูมิภายในห้องสูงจนเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและนอนหลับได้ยาก
  • การรักษาด้วยแสงสว่าง (Bright-light Therapy) เป็นการรักษาโดยการให้ผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมการแจ้งในเวลาเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับแสงแดด ซึ่งจะส่งผลดีต่อนาฬิกาชีวิต แต่วิธีการรักษาจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากหากอยู่กลางแจ้งนานเกินไปอาจจะทำให้อ่อนเพลียได้

นาฬิกาชีวิต แม้จะไม่ใช่หนึ่งในอวัยวะของร่างกายแต่ก็นับว่ามีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายในทุก ๆ ระบบ ฉะนั้นควรดูแลรักษานาฬิกาชีวิตด้วยการนอนหลับอย่างเพียงพอ และเป็นเวลา เพื่อให้การทำงานของนาฬิกาชีวิตจะยังคงเป็นปกติอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง