น้ำมันคาโนล่า (Canola Oil) เป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่งที่สกัดมาจากเมล็ดของต้นคาโนล่า น้ำมันชนิดนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะเชื่อกันว่าอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคบางชนิด เนื่องจากมีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fat) อยู่สูง
น้ำมันคาโนล่าประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fat) ประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรดไขมันที่เหลือจะเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fat) ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ โดยไขมันในกลุ่มนี้จะรวมไปถึงกรดไขมันจำเป็น อย่างกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) หรือโอเมก้า 6 ที่คุ้นเคยกันดี และยังมีกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าชื่อจะเป็นไขมันที่ทำให้หลายคนกลัว แต่ไขมันเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายหากรับประทานอย่างถูกวิธีและในปริมาณที่เหมาะสม ผู้ที่สนใจใช้น้ำมันชนิดนี้ในการปรุงอาหารจึงควรทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ รวมถึงวิธีการใช้น้ำมันคาโนล่าอย่างปลอดภัยด้วย
ประโยชน์ของน้ำมันคาโนล่า
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นสารอาหารที่โดดเด่นของน้ำมันชนิดนี้ โดยประโยชน์ของไขมันชนิดนี้คือช่วยลดปริมาณไขมันชนิดที่เป็นอันตรายภายในเลือด อย่างไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และไขมันทรานส์ ซึ่งอาจจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังในระยะยาว อีกทั้งไขมันไม่อิ่มตัวยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงและลดไขมันสะสมภายในร่างกาย ดังนั้น การได้รับไขมันไม่อิ่มตัวอย่างเหมาะสมอยู่เป็นประจำก็อาจช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพหัวใจแข็งแรง และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ไขมันไม่อิ่มตัวมักมีวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งวิตามินอีเป็นสารอาหารจำเป็นและทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ภายในร่างกายได้ นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว น้ำมันคาโนล่าสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้งการปรุงอาหารแบบผัดหรือย่าง ใช้แทนน้ำสลัด หรือใช้แทนเนยและเนยเทียมในการอบขนม
ความเสี่ยงจากน้ำมันคาโนล่าที่ควรรู้ก่อนใช้
แม้ว่าประโยชน์ของน้ำมันคาโนล่าจะมีงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นรองรับ แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งบางอย่างที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ นอกจากนี้ การบริโภคอย่างไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน ผู้ใช้จึงควรทราบความเสี่ยงจากการรับประทานน้ำมันชนิดนี้ เช่น
ได้รับโอเมก้า 6 ในปริมาณสูงเกินไป
กรดไขมันโอเมก้า 6 หรือกรดไลโนเลอิกเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับไขมันโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 อยู่ในระดับไม่สมดุล จากการศึกษาพบว่าเมื่อระดับไขมันทั้งสองชนิดนี้ไม่สมดุลอาจทำให้เกิดการอักเสบมากกว่าการต้านอักเสบ ซึ่งในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคอัลไซเมอร์ได้
มีไขมันทรานส์
แม้ว่าน้ำมันคาโนล่ามีไขมันดีสูงและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีส่วนประกอบไขมันทรานส์ที่เป็นตัวไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีภายในเลือดและอาจทำให้มีไขมันอุดตันในเส้นเลือด ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
เป็นผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ (GMO)
น้ำมันคาโนล่าส่วนใหญ่มักมาจากต้นคาโนล่าที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมหรือที่เรียกว่าพืช GMO ซึ่งการปลูกพืช GMO ส่วนใหญ่มักมีการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิต จึงอาจทำให้มีสารปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์ด้วย ทำให้ในปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าผลผลิตจากพืชที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมนั้นสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หรือไม่
ประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจที่ยังไม่แน่ชัด
แม้ว่างานวิจัยหลายงานชี้ว่าน้ำมันคาโนล่าเป็นประโยชน์ต่อหัวใจและการไหลเวียนเลือด ช่วยต้านการอักเสบ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ แต่ก็ยังมีการศึกษาที่ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม โดยพบว่าน้ำมันชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุงในผู้ที่รับประทานเป็นประจำ นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันคาโนล่าบางชิ้นได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทที่ขายน้ำมันชนิดนี้ จึงทำให้ประโยชน์บางอย่างยังเป็นที่น่าสงสัย
วิธีบริโภคน้ำมันคาโนล่าอย่างปลอดภัย
คนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้น้ำมันคาโนล่าเพราะประโยชน์ด้านสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุด ควรใช้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รับประทานน้ำมันคาโนล่าในปริมาณที่เหมาะสม แม้จะมีไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสะสมภายในร่างกายได้เช่นกัน
- รับประทานโอเมก้า 3 จากแหล่งอาหารอื่นเพิ่มเติม อย่างปลาทะเลหรือถั่วเปลือกแข็งเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะไม่สมดุลของกรดไขมันโอเมก้า
- เพื่อรักษาคุณภาพในการใช้ ควรใช้น้ำมันคาโนล่าให้หมดภายใน 3 เดือน และเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน
สุดท้ายนี้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ คำนวณไขมันที่ได้รับต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นเพื่อช่วยลดไขมันสะสมภายในร่างกาย แต่มีกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้น้ำมันคาโนล่า อาจลองเลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันดีสูงชนิดอื่นทดแทนได้ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น