มังคุด ผลไม้ที่เป็นที่นิยมของคนไทยมาเป็นเวลานาน ด้วยรสชาติที่หวานอมเปรี้ยวและมีความกลมกล่อม ทำให้มังคุดได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบว่านอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว มังคุดยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลายและประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งยังอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น อาการปวดท้อง ท้องเสีย โรคมะเร็ง และแผลที่ติดเชื้อ เป็นต้น
ในมังคุดมีวิตามินซี หลายคนจึงเชื่อว่ามังคุดอาจช่วยลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งเปลือกมังคุดยังมีสารแทนนิน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ด้วย นอกจากนี้ มังคุดยังมีสารแซนโทนอยู่มากกว่ากว่า 68 ชนิด เช่น แอลฟาแมงโกสติน เบต้าแมงโกสติน แกมมาแมงโกสติน การ์ซิโนนอี และการ์ทานิน เป็นต้น ซึ่งพบได้ทั้งในใบ ผล แก่นไม้ และเปลือกมังคุด โดยแซนโทนแต่ละชนิดต่างมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย
สรรพคุณของมังคุด
เนื่องจากมังคุดอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด หลายคนจึงเชื่อว่ามังคุดอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการของโรคบางชนิดได้ ทำให้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงสรรพคุณของมังคุดในด้านการรักษาโรค ดังนี้
- บรรเทาอาการท้องเสีย
ท้องเสีย เป็นอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือภาวะอาหารเป็นพิษ โดยส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานหลายสัปดาห์ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อระยะยาวหรือโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และโรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
เนื่องจากเปลือกมังคุดมีสารแทนนิน ซึ่งเชื่อกันว่าอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารแทนนินที่ได้จากเบญกานีจีนซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่ง โดยพบว่าสารแทนนินช่วยลดการขับน้ำบริเวณลำไส้ จึงอาจทำให้อาการท้องเสียลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้สารแทนนินจากรูบาร์บจีนซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่ง พบว่าสารแทนนินส่งผลช่วยลดปริมาณอุจจาระเหลวในลำไส้ใหญ่ในหนูที่ท้องเสียอีกด้วย แต่เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้เป็นการทดลองโดยใช้สารแทนนินจากเบญกานีจีนและรูบาร์บจีน ทั้งยังเป็นเพียงการทดลองในสัตว์และการทดลองกับเซลล์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์โดยใช้สารแทนนินจากมังคุดอีกครั้งเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมังคุดในการบรรเทาอาการท้องเสียที่แน่นอน - รักษาอาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
ผิวหนังถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจากการติดเชื้อ แต่ในบางครั้งผิวหนังก็อาจเกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยการติดเชื้อบริเวณผิวหนังอาจเกิดจากเชื้อโรคหลากหลายชนิด ซึ่งอาจมีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก
มีงานวิจัยหนึ่งที่นำสารสกัดจากเปลือกมังคุดมาทำการทดลองในห้องทดลองโดยใช้เซลล์บางส่วนจากหนูที่ติดเชื้อบริเวณผิวหนังเพื่อดูว่ามังคุดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ ซึ่งจากการทดลองพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียเอ็มอาร์เอสเอ (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus: MRSA) โดยพบว่ามีจำนวนแบคทีเรียที่ลดลง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในห้องทดลองเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมังคุดที่แน่นอนอีกครั้ง - ต้านการอักเสบ
การอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันพยายามต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส สารเคมี รวมถึงการบาดเจ็บของร่างกาย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการรับประทานมังคุดอาจช่วยต้านการอักเสบได้ เนื่องจากในมังคุดมีสารแซนโทนซึ่งถือเป็นสารประกอบพฤกษเคมีหลักในมังคุดที่มีส่วนสำคัญในการช่วยต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จึงมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพด้านนี้ของมังคุดอยู่บ้าง
สารแซนโทนในมังคุดที่มีปริมาณมากที่สุด ได้แก่ สารแอลฟาแมงโกสติน ซึ่งเชื่อกันว่าอาจส่งผลช่วยลดอาการอักเสบได้ จึงมีงานวิจัยที่เป็นการทดลองในหลอดทดลองที่พบว่าสารแอลฟาแมงโกสตินช่วยลดการหลั่งของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ แต่เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาตัวอย่างเซลล์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารแอลฟาแมงโกสตินในมนุษย์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่ากลุ่มคนที่บริโภคเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยมังคุดช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดมากกว่ากลุ่มที่บริโภคยาหลอกถึง 15 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มทำอุดมไปด้วยมังคุดส่งผลให้ระดับซี-แอคทีฟโปรตีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสารซี-แอคทีฟโปรตีนเป็นสารที่บ่งบอกถึงการอักเสบภายในร่างกาย จึงเชื่อว่ามังคุดอาจช่วยลดความเสี่ยงของการอักเสบและการเกิดโรคเรื้อรังบางชนิดที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย - ป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง
มะเร็งถือเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ ซึ่งมะเร็งนั้นถือเป็นโรคร้ายที่อาจคร่าชีวิตของผู้ป่วยได้หากมีการลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ โดยมะเร็งมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งแต่ละชนิดก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไป
มีข้อมูลจากงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าสารแซนโทนในมังคุดอาจมีฤทธิ์ช่วยป้องกันและใช้รักษามะเร็งได้ เนื่องจากมีกลไกที่ควบคุมในระดับโมเลกุลที่คล้ายกับกลไกที่ควบคุมการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลซึ่งส่งผลต่อการเกิดและการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย เช่น บางงานวิจัยพบว่าสารแกมมาแมงโกสติน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มแซนโทนชนิดหนึ่งอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ด้วยการลดกระบวนการอะโรมาเทสที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจน
อีกทั้งยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำการทดลองในหนูที่ได้รับการฉีดสารที่ทำให้เกิดเนื้อร้ายบริเวณเต้านม ซึ่งจากการทดลองพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารแอลฟาแมงโกสตินปริมาณ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั้นมีอัตราการมีชีวิตรอดสูงกว่าหนูกลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งปริมาตรของเนื้องอกและการแพร่กระจายของต่อมน้ำเหลืองถูกยับยั้งอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย จึงเชื่อว่าสารแอลฟาแมงโกสตินอาจส่งผลช่วยรักษาโรคมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่ามังคุดนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้จริง
นอกจากนี้ มังคุดยังอาจมีส่วนช่วยในการรักษาและป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น โรคบิด หนองในแท้https://www.pobpad.com/หนองในแท้ โรคเชื้อราในปาก โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ แผลพุพอง และความผิดปกติของประจำเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมังคุดต่อโรคหรือการเจ็บป่วยดังกล่าว
บริโภคมังคุดอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
ปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานมังคุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุและสุขภาพของผู้รับประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เพียงพอที่จะระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคมังคุดได้ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับการบริโภคมังคุดในขณะตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ดังนั้น สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการบริโภคมังคุดเพื่อความปลอดภัย ส่วนคนทั่วไปก็ไม่ควรรับประทานมังคุดในปริมาณที่มากจนเกินไป
นอกจากนี้ การบริโภคมังคุดอาจส่งผลที่เป็นอันตรายต่อคนบางกลุ่มได้อีกด้วย ซึ่งกลุ่มคนที่เสี่ยงเกิดอันตรายและไม่ควรบริโภคมังคุดมีดังนี้
- ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติ เนื่องจากมังคุดอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้า
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานมังคุดเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้า
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมังคุดมีปริมาณน้ำตาลสูง
- ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ โดยมีการทดลองในสัตว์ที่พบว่ามังคุดอาจส่งผลให้อาการของโรคลำไส้อักเสบรุนแรงขึ้นได้
- ผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาที่ทำปฏิกิริยาต่อไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) และยาในกลุ่มแคลซินูรินอินฮิบิเตอร์อย่างไซโคลสปอรินและทาโครลิมัส เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรรับประทานมังคุดในปริมาณที่พอเหมาะ และควรปรึกษาแพทย์และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากกำลังประสบปัญหาทางสุขภาพใด ๆ อยู่ นอกจากนี้ หากพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากรับประทานมังคุดควรรีบไปพบแพทย์ทันที