การวินิจฉัย ลมพิษ
การวินิจฉัยลมพิษโดยส่วนใหญ่สามารถทำได้ด้วยการตรวจผื่นแดงที่เห็นได้ชัดซึ่งเกิดขึ้น แต่หากผู้ป่วยเป็นลมพิษเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องหาสาเหตุพื้นฐานอื่น ๆ
ลมพิษเฉียบพลัน
นอกจากจะทำการตรวจตุ่มหรือผื่นที่ปรากฏขึ้น แพทย์จะสอบถามประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น เริ่มเป็นผื่นเมื่อไร ได้รับประทานอาหารใด หรือสัมผัสกับสิ่งใดมาบ้าง ซึ่งอาจเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ รวมไปถึงประวัติการเป็นลมพิษของคนในครอบครัว หรือสภาพแวดล้อมที่ทำงานและที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ลมพิษเรื้อรัง
หากผู้ป่วยเป็นลมพิษมานานกว่า 6 สัปดาห์ มักไม่ได้มีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ จึงไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบโรคภูมิแพ้ แพทย์จะถามหาสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ลมพิษมีอาการแย่ลง เช่น การใช้ยาบางชนิด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หรือผู้ป่วยมีความเครียดมากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจได้รับการทดสอบเพื่อหาสาเหตุที่สำคัญและซ่อนอยู่ของลมพิษเรื้อรัง โดยอาจมีการทดสอบ เช่น
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test) โดยนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรพืช และเชื้อรา หยดลงบนผิวหนังที่แขนและใช้เข็มสะกิดลงบนปลายหยดน้ำยา ซึ่งจะทำให้ทราบว่าแพ้สารใด
- การตรวจสอบระดับของแอนติบอดี้ในเลือด
- การเก็บตัวอย่างอุจจาระ ช่วยให้ระบุพยาธิในลำไส้ได้
- การตรวจการทำงานของตับ เพื่อหาความผิดปกติหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในตับ
- การตรวจนับเม็ดเลือดแบบสมบูรณ์ (CBC) ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบภาวะโลหิตจางได้