ความหมาย ลมพิษ
ลมพิษ (Urticaria) เป็นอาการทางผิวหนังที่พบเห็นได้บ่อย เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยจะปรากฏเป็นผื่นบวมนูนสีขาวล้อมด้วยสีแดง โดยผื่นที่ปรากฏนั้นจะมีขนาดตั้งแต่เล็กมากไปถึงขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากผื่นจุดเล็ก ๆ มารวมกันจนทำให้เกิดเป็นดวงใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา
ผู้ป่วยมักมีอาการคันหรืออาจรู้สึกแสบในบริเวณที่เป็นผื่น ซึ่งผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกาย แม้กระทั่งใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหู ทำให้รบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ผื่นมักค่อย ๆ จางหายไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยใช้ยาอาจนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)
อาการของลมพิษ
ลมพิษมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เป็นผื่นลักษณะนูนแดง ซึ่งมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป อาจเกิดขึ้นได้ที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ลำตัว รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมากและหากเกาก็จะเกิดผื่นแดงมากยิ่งขึ้น ลมพิษเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบว่าเกิดได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาและอาการที่เกิดขึ้น คือ
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ลมพิษที่เกิดขึ้นมาและหายไปได้เองอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองภายในเวลา 48 ชั่วโมง หรือในรายที่เป็นนาน ก็จะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) มีอาการลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ลมพิษชนิดเรื้อรังจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้เกิดความรำคาญหรือความไม่สบายตัวมาก ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการนอนหลับของผู้เป็นลมพิษ
หากมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น หายใจลำบาก เวียนศีรษะ ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอบวม ปวดท้องอย่างรุนแรง และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากรักษาไม่ทันการณ์
สาเหตุของลมพิษ
ตุ่มนูนของลมพิษเกิดขึ้นเพราะร่างกายได้ปล่อยสารฮีสตามีนและสารอื่น ๆ ไปสู่กระแสเลือด สาเหตุส่วนใหญ่ของลมพิษเฉียบพลันจะมาจากอาการแพ้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ โดยอาจเกิดจากสิ่งกระตุ้นหลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น การรับประทานยาแก้ปวด การรับประทานอาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสงอาทิตย์ ความร้อนและความเครียด
สาเหตุของลมพิษระยะเรื้อรังยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายตัวเอง หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย สำหรับบางรายพบว่าการเป็นลมพิษอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคไทรอยด์ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
การวินิจฉัยลมพิษ
แพทย์จะสอบถามประวัติอาการ และประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ โดยละเอียด เช่น การแพ้สิ่งต่าง ๆ และทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดลมพิษ ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด หรือตรวจหาภาวะการแพ้ต่าง ๆ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test)
การรักษาลมพิษ
หากตรวจพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหาร ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือยาง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารนั้น แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้ชัดเจน แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจอย่างละเอียดแล้ว
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้านด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อาบน้ำเย็นหรือประคบเย็น สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าเบาสบาย ทาครีมหรือโลชั่นที่ช่วยลดอาการคัน และทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเสมอ
แพทย์อาจให้ยารักษาอาการคันแบบทาหรือประเภทสารต้านฮีสตามีน โดยสามารถใช้ยาเองได้ที่บ้าน และหากการรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นไม่สำเร็จ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหายาที่ได้รับตามใบสั่งแพทย์หรือยาอื่น ๆ เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ประกอบกัน เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ
ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยลมพิษระยะเฉียบพลันและครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยระยะเรื้อรัง มักจะมีการพัฒนาไปเป็นแองจิโออีดีมา (Angioedema) ซึ่งเป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อในชั้นลึกของผิว สามารถทำให้เกิดปัญหาได้สำหรับบางคนและเป็นอันตรายถึงชีวิตถ้ามีผลต่อการหายใจ
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของลมพิษ ได้แก่ หายใจได้ลำบาก เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) และผลกระทบทางอารมณ์ นอกจากนั้น ผู้ป่วยลมพิษมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่จะพัฒนาไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และบางอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หายใจติดขัด หรืออาการแพ้ที่รุนแรง
การป้องกันลมพิษ
สามารถบรรเทาและป้องกันลมพิษได้ด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ได้ทราบจากการวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือการหมั่นสังเกตตัวเองและจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้ทราบถึงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยถึงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงระมัดระวังในการรับประทานยาต่าง ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ เพราะเป็นอีกสิ่งที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดลมพิษได้