ละเมอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ เช่น ลุกเดินไปมา ลุกนั่งบนเตียง ลุกขึ้นมาพูดคุย โดยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วงที่หลับลึกหรือเปลี่ยนจากช่วงหลับลึกเป็นหลับตื้น ขณะที่มีอาการละเมอจึงไม่รู้สึกตัว
ละเมอมักเกิดกับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี โดยปกติอาการจะหายไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนในผู้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่มีโอกาสที่อาการจะคล้ายคลึงกับโรคหรือความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ รวมไปถึงภาวะสุขภาพทางจิตอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนระหว่างอาการเหล่านี้ได้
อาการละเมอเป็นอย่างไร ?
อาจพบว่าการนอนละเมอบ่อยครั้งหรือนาน ๆ ครั้ง มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่นอนหลับไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง และอาการละเมอจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
พฤติกรรมหรืออาการเมื่อละเมอ มีดังต่อไปนี้
- ลุกขึ้นมาแล้วเดินไปมาในบ้าน หรือลุกขึ้นนั่งลืมตา
- ลุกมาทำกิจกรรมที่เคยทำปกติในชีวิตประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำ แต่งตัว ส่งข้อความ หรือพูดคุย
- ขณะที่ละเมอจะไม่มีการตอบสนอง
- หลังจากละเมอแล้วกลับมานอนหลับได้อย่างรวดเร็ว
- เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสับสนมึนงงชั่วขณะหนึ่ง
- เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาไม่สามารถจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ หรืออาจจำได้เล็กน้อย
- อาจมีปัญหาในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ในระหว่างวัน เพราะการเละเมอเป็นการรบกวนการนอนหลับอย่างหนึ่ง
- บางรายอาจมีความหวาดกลัวกับการนอนหลับ เพราะละเมอบ่อยครั้ง
พฤติกรรมหรืออาการในข้างต้นอาจไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ก็มีพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับตนเองและผู้อื่นได้ แม้จะพบได้น้อย เช่น ออกไปนอกบ้าน ขับรถ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีกิจกรรมทางเพศโดยที่ไม่รู้ตัว หรือได้รับบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง เป็นต้น
ละเมออย่างไรถึงควรไปพบแพทย์ ?
การละเมอมักไม่ค่อยมีความรุนแรง แต่หากทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไข เช่นมีอาการดังนี้
- ละเมอมากกว่า 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ง่วงในระหว่างวันมากและบ่อยครั้ง
- เกิดอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น ละเมอออกจากบ้าน ขับรถ หรือกระโดดจากที่สูง
- รบกวนการนอนหลับของผู้อื่นหรือผู้นอนละเมอเกิดความอับอาย
- ผู้ใหญ่ที่พบว่าตนเองเริ่มนอนละเมอ หรือพบบุตรหลานวัยรุ่นยังนอนละเมออยู่
- หากละเมอโดยมีสาเหตุจากภาวะทางการแพทย์ เช่น โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข อาการชัก ควรได้รับการรักษาและปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอ
ละเมอมีสาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุที่ทำให้นอนละเมออาจมากจากปัจจัยเหล่านี้ เช่น
- ภาวะขาดการนอนหลับ หรือถูกรบกวนการนอนหลับ
- ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
- ความเครียดและความวิตกกังวล
- ภาวะซึมเศร้า
- เป็นไข้
- เมาเหล้า
- ใช้สารหรือยาบางชนิด เช่น ยาระงับประสาทหรือยากล่อมประสาท
นอกจากนั้น สาเหตุที่ทำให้นอนละเมอมักเกิดขึ้นจากการขาดนอนหรือถูกรบกวนไม่ให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมาจากโรคหรือความผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจในระหว่างนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหลับได้ จนทำให้ต้องหลับไปอย่างกระทันหันอยู่บ่อยครั้งเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบาย
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการรำคาญหรือไม่สบายที่ขาทั้ง 2 ข้าง จนรบกวนการนอนหลับ
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- ไมเกรน
ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสให้มีการละเมอ ได้แก่
- กรรมพันธุ์ โอกาสที่จะทำให้นอนละเมอจะเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า หากพบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวละเมออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะพ่อและแม่นอนละเมอ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ลูกนอนละเมอเช่นกัน
- อายุ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการละเมอจะเกิดกับวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ แต่หากเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่มักจะมาจากปัญหาด้านสุขภาพ
นอนละเมอป้องกันและรักษาได้อย่างไร ?
โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษาการนอนละเมอ โดยเฉพาะละเมอที่เกิดในวัยเด็กจะสามารถหายไปได้เองเมื่อโตเข้าสู่วัยรุ่น เบื้องต้นสามารถดูแลผู้ที่นอนละเมอได้ คือ หากผู้ที่ละเมอลุกออกจากเตียง ให้ค่อย ๆ พากลับมานอนบนเตียงโดยที่ไม่จำเป็นต้องปลุกให้ตื่น เป็นต้น
นอกจากนั้น สามารถป้องกันและเตรียมพร้อมสำหรับการนอนละเมอได้ ดังต่อไปนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเข้านอนในเวลาเดิมทุก ๆ คืน
- พยายามทำให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่น หรือหายใจเข้า-ออกลึก ๆ
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็นสื่อจากเสียงหรือภาพ
- ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในห้องนอนให้มืดพอสำหรับการนอนหลับ หรือกำจัดเสียงรบกวนต่าง ๆ
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนช่วงใกล้เวลานอนและเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนนอน
การป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่นอนละเมอ
- จัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้มีความปลอดภัย เช่น เก็บของมีคมหรือของที่มีอันตรายต่าง ๆ
- จัดการเก็บข้าวของในบ้านที่แตกหักง่ายหรืออาจมีอันตรายกับผู้นอนละเมอ
- ล็อกประตูและหน้าต่างให้เรียบร้อยก่อนนอน
- ไม่ให้เด็กที่นอนละเมอนอนชั้นบนของเตียง 2 ชั้น
- กรณีที่ละเมอเวลาเดิมทุกคืน ควรปลุกให้ผู้ที่นอนละเมอลุกขึ้นมาเดินในเวลานั้น ๆ ประมาณ 15 นาที จากนั้นยังคงให้ตื่นอยู่อีกประมาณ 5 นาที แล้วจึงค่อยให้นอนหลับอีกครั้ง
- แจ้งให้กับพี่เลี่ยงเด็กหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าบุตรหลานนอนละเมอ เพื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องดูแล
การรักษาทางการแพทย์
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ มักเป็นโรคที่รบกวนการนอนหลับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นอนละเมอ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
- ยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้นอนละเมอ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นทดแทนได้หรือไม่
จำเป็นต้องใช้ยารักษาหรือไม่?
การรักษานอนละเมอด้วยยา จะมีความจำเป็นก็ต่อเมื่อผู้ที่นอนละเมอได้รับอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บหรือสร้างปัญหาให้กับคนในครอบครัว หรืออาจทำให้ผู้ที่นอนละเมอมีความอับอายหรือไม่สามารถนอนหลับเต็มอิ่มได้ ซึ่งยาที่แพทย์อาจใช้รักษาการนอนละเมอ เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปิน (Benzodiazepines) หรือยารักษาโรคซึ่มเศร้าบางชนิด
เป็นที่ทราบกันดีว่าการนอนละเมอเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้มีความรุนแรงหรือน่ากลัวอะไร แต่จะพบว่าบางรายสามารถทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เช่น ทำร้ายร่างกายหรือมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากพบว่าคนใกล้ตัวกำลังนอนละเมอ ควรช่วยหาทางป้องกันหรือรักษา หรือปรึกษาแพทย์ต่อไป