ลำไย ผลไม้รสหวานฉ่ำที่หลายคนโปรดปรานแต่มักไม่กล้ากินมากเกินไป เพราะเชื่อว่าจะทำให้ร้อนใน เจ็บคอ หรือตื่นมาตาแฉะในวันรุ่งขึ้น ความเชื่อเหล่านี้จริงเท็จประการใด ควรกินลำไยมากน้อยแค่ไหนกันแน่ และประโยชน์ของลำไยที่กล่าวกันว่าดีต่อสุขภาพนั้นพิสูจน์ได้แล้วหรือยัง ?
ลำไยเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ เช่น มีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระ แต่อาจให้โทษต่อร่างกายได้หากรับประทานมากเกินไป หลายคนอาจไม่แน่ใจว่าควรกินลำไยอย่างไรจึงจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยกับประโยชน์ของลำไยและคำตอบที่ช่วยคลายข้อสงสัยไว้ให้คุณแล้ว
คุณค่าทางอาหารจากการกินลำไย
ลำไยสดน้ำหนัก 1 ออนซ์ หรือประมาณ 28 กรัม ให้พลังงาน 17 แคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรต 4 กรัม ผลไม้ชนิดนี้ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลสูง โดยลำไย 9 ผล มีน้ำตาลเทียบเท่ากับ 3.5 ช้อนชา คิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำต่อวัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 30 กรัม และหากเป็นเนื้อลำไยอบแห้งก็จะยิ่งมีแคลอรี่และน้ำตาลสูงกว่าลำไยสดมาก
เนื้อลำไยอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจนอันพบมากในกระดูก หลอดเลือด และผิวหนัง โดยลำไยสด 28 กรัม ให้วิตามินซีสูงถึง 40 เปอร์เซนต์ของปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน โดยผู้หญิงควรได้รับวิตามินซีวันละ 75 มิลลิกรัม ส่วนผู้ชายควรได้รับวันละ 90 มิลลิกรัม
นอกจากนั้น งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของลำไย ไม่ว่าจะเป็นใบ ผล เมล็ด เปลือก ลำต้น กิ่ง ดอก ต่างประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะเมล็ดลำไยที่มีในปริมาณสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ซึ่งสารดังกล่าวจะช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระในร่างกายที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์และเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในลำไยมีอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน เช่น กรดแกลลิก กรดเอลลาจิก แทนนิน รวมถึงสารคอริลาจิน (Corilagin) ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก และสารกาบา (GABA) ที่อาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล
ตอบข้อสงสัยกับความเชื่อเรื่องการกินลำไย
5 ความเชื่อยอดนิยมของการกินลำไยที่หลายคนอาจสงสัย มีดังนี้
1. กินลำไยมากทำให้ร้อนในจริงหรือ
หลายคนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่าหากกินลำไยในปริมาณมากเกินไปจะก่อให้เกิดอาการร้อนในตามมา บ้างก็ว่าเกิดจากยางของลำไย สำหรับข้อเท็จจริงในด้านนี้ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่ระบุว่าลำไยมียางหรือเป็นสาเหตุของอาการร้อนในจริง
ทั้งนี้ สถาบันโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลอธิบายว่าอาจเป็นเพราะลำไยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ทำให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ภายในปากหลังกิน ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้เป็นอาหารของแบคทีเรียและเป็นสาเหตุให้มีแบคทีเรียสะสมมากขึ้น ทำให้เสี่ยงเกิดแผลร้อนในตามมาในที่สุด ดังนั้น อาหารที่มีน้ำตาลมากจึงล้วนส่งผลให้เป็นร้อนในได้ ไม่ใช่เพียงแต่ลำไยเท่านั้น
นอกจากนี้ แผลร้อนในภายในปากยังอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันแรง ๆ การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง การเผลอกัดโดนเยื่อบุช่องปาก การขาดสารอาหารบางชนิด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงมีประจำเดือน รวมถึงการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต ไข่ ชีส ถั่ว หรืออาหารรสเผ็ดหรือผักผลไม้ที่มีกรดอย่างสตรอว์เบอร์รี่ ส้ม มะนาว และสับปะรด เป็นต้น
2. กินลำไยทำให้เจ็บคอ เป็นไข้ และตาแฉะ
หลายคนอาจเคยได้ยินคำเตือนเหล่านี้เกี่ยวกับการกินลำไยบ่อย ๆ โดยอ้างว่าในลำไยมีสารบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วไม่ปรากฏงานวิจัยที่ระบุข้อมูลนี้ รวมถึงความเชื่อที่ว่าอาการเจ็บคออาจเกิดจากลำไยมีน้ำตาลมาก ซึ่งการกินอาหารที่มีน้ำตาลหรือหวานมากกับอาการเจ็บคอนั้นมีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ อย่างไร ทางวิทยาศาสตร์ก็ยังให้คำตอบไม่ได้
3. ผู้ป่วยเบาหวานควรเลี่ยงการกินลำไย
แม้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยจำกัดการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องงดการกินลำไยหรือผลไม้อื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารแต่มีน้ำตาลสูงเสมอไป เพียงลดปริมาณและความถี่ในการกินให้น้อยลงกว่าผู้มีสุขภาพดีทั่วไป โดยผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับน้ำตาลจากอาหารไม่เกินวันละ 3-4 ช้อนชา และควรกินลำไยประมาณ 3-5 ผลต่อมื้ออาหารเท่านั้น ในขณะที่ผู้มีสุขภาพดีควรกินลำไยไม่เกิน 10 ผลต่อมื้ออาหาร
4. คนท้องกินลำไยได้หรือไม่
การกินผักผลไม้ให้หลากหลายจะช่วยให้ว่าที่คุณแม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกน้อย อีกทั้งมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยป้องกันท้องผูกได้ดี ลำไยจึงไม่ใช่ของต้องห้ามที่ไม่ควรกินระหว่างตั้งครรภ์แต่อย่างใด ทว่าเช่นเดียวกับผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงชนิดอื่น ๆ อย่างทุเรียน กล้วย หรือสับปะรด ไม่ควรกินลำไยเพียงอย่างเดียวในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงและเสี่ยงเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
5. การล้างลำไยก่อนกินช่วยชะล้างยาฆ่าแมลงบนเปลือก
การล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหรือแช่น้ำเกลือช่วยขจัดยาฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามเปลือกผลจริง แต่อาจไม่ทั้งหมด หลายคนเสี่ยงได้รับยาฆ่าแมลงจากกินลำไยเพราะใช้ปากกัดเปลือกลำไย ทางที่ดีจึงควรใช้มือหรือมีดแกะผลลำไยแทน
กินลำไยช่วยบำรุงสุขภาพอย่างไรบ้าง
มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของลำไยที่มีต่อสุขภาพหลายด้าน ดังต่อไปนี้
บรรเทาอาการปวดข้อ
โรคเกี่ยวกับข้อต่อและกระดูกหลายโรค เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อเสื่อม กระดูกพรุน และโรคเก๊าท์ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพกระดูกแล้วยังเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย งานวิจัยที่ทดสอบกับเซลล์และหนูทดลองชี้ว่าสารสกัดจากเปลือก เนื้อ และผนังของเมล็ดลำไยมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาการปวด รวมถึงงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากลำไยอาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการของโรคข้อต่อและกระดูก ทำให้เชื่อว่าลำไยอาจเป็นอีกตัวเลือกที่นำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านนี้ได้
การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกรดยูริกและปฏิกิริยาในกระบวนการสร้างกรดยูริกในเลือด ซึ่งการมีกรดยูริกในปริมาณสูงนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเก๊าท์ตามมาในที่สุด โดยจะก่อให้เกิดการตกผลึกบริเวณข้อต่อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบวมตามข้อ และเมื่อทดลองฉีดสารสกัดดังกล่าวให้หนูที่มีกรดยูริกสูงก็ปรากฏผลลัพธ์เช่นเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าสารสกัดเมล็ดลำไยอาจมีสรรพคุณป้องกันโรคนี้
นอกจากนี้ ลำไยอาจเป็นอีกตัวช่วยในการรักษาโรคกระดูกและข้อต่อบางชนิด เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยในเซลล์พบว่าสารสกัดจากผลลำไยมีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระดูกและอาจใช้เป็นสารที่ช่วยรักษาโรคกระดูกพรุนได้ รวมถึงการศึกษาในกระต่ายที่พบว่าโมเลกุลคาร์โบไฮเดรตจากลำไยอาจมีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูกในระหว่างการปลูกถ่ายกระดูกอ่อน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของลำไยที่มีต่อการป้องกันและรักษาโรคกระดูกหรือข้อต่อในปัจจุบันล้วนไม่ได้ศึกษากับคนโดยตรง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกับคนจำนวนมากและมีการออกแบบงานวิจัยอย่างรัดกุมต่อไปเพื่อระบุความน่าเชื่อถือก่อนจะได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง
ลดความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้า
ลำไยมีสารบางชนิดที่อาจมีสรรพคุณต้านภาวะซึมเศร้าและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือกาบา สารสื่อประสาทที่มีอยู่ในสมองของคนเรา ซึ่งนักวิจัยคาดว่าเป็นสารที่ช่วยให้มีอารมณ์ดี รู้สึกสงบ และผ่อนคลายระบบประสาท ระดับของสารกาบาที่ลดต่ำลงอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคความผิดปกติทางอารมณ์หรือโรควิตกกังวล หลายคนจึงหันมากินอาหารเสริมกาบาเพราะเชื่อว่าจะช่วยคลายความกังวลและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสารกาบาจากอาหารเสริมนั้นข้ามผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมองไปได้หรือไม่ ทำให้ไม่อาจยืนยันว่าผู้ที่กินกาบาในรูปแบบอาหารเสริมหรือสารสกัดลำไยจะได้รับประโยชน์จากสารอาหารชนิดนี้
สารอีกชนิดหนึ่งที่พบในลำไยและคาดว่าอาจช่วยต้านภาวะซึมเศร้าเช่นเดียวกันคือกรดแกลลิก โดยจากการทดลองหนึ่งที่ให้หนูซึ่งมีภาวะซึมเศร้าเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดกินกรดแกลลิก พบว่าหนูมีอาการซึมเศร้าและเครียดน้อยลง สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการที่กรดแกลลิกนั้นมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยยับยั้งกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระในระหว่างที่สมองขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ การศึกษาโดยใช้ลำไยหรือสารสกัดจากลำไยโดยตรงนั้นมีไม่มากนักและยังไม่พบการศึกษาในคนที่น่าเชื่อถือ มีเพียงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองให้หนูที่มีภาวะเครียดกินพืชสมุนไพร 3 ชนิดผสมกัน ได้แก่ ลำไย พลูคาว และพืชในตระกูลกลอย ผลลัพธ์พบว่าหนูมีอาการซึมเศร้าและเครียดน้อยลง แต่ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลมาจากลำไยหรือพืชอีก 2 ชนิดกันแน่ จึงยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
นอกจากภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความผิดปกติทางอารมณ์ ระดับของสารกาบาในสมองที่ต่ำกว่าปกติยังมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาในการนอน เพราะสารชนิดนี้มีกลไกการทำงานโดยช่วยลดการตื่น ทำให้หลับได้ง่ายและเร็วขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองโดยใช้สารสกัดจากเนื้อลำไย พบว่าแม้สารสกัดดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้นอนหลับเร็วขึ้นและเพิ่มระยะเวลาในการนอนหลับโดยตรง แต่เมื่อใช้ควบคู่กับยาเพนโทบาร์บิทอลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยให้นอนหลับของยาดังกล่าว เนื่องจากสารสกัดจากเนื้อลำไยมีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของสารกาบา ทว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไม่ได้ให้คนกินสารสกัดจากลำไยจริง ๆ จึงยังเป็นเพียงแนวทางการศึกษาที่ควรมีการต่อยอดศึกษาในคนจำนวนมากต่อไป
บำรุงความจำ
ผลลำไยอบแห้งถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรแก้อาการหลงลืมตามตำรับยาแผนโบราณของจีนมาอย่างยาวนาน จนต่อมาเริ่มมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์สรรพคุณในด้านนี้ของลำไย การศึกษาชิ้นหนึ่งทดลองให้หนูกินสารสกัดจากผลลำไยเป็นเวลา 14 วัน ปรากฏว่าหนูมีการเรียนรู้และความจำที่ดีขึ้น
สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่าหนูที่มีความบกพร่องทางความจำและการเรียนรู้มีอาการดีขึ้นหลังได้รับสารสกัดจากเมล็ดลำไย ลำไยจึงอาจมีประโยชน์ช่วยในเรื่องความจำตามที่ตำราแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์แผนปัจจุบันได้จริงหรือไม่คงต้องมีการพิสูจน์โดยตรงกับคนต่อไปเสียก่อน
ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
ไม่เพียงแต่สรรพคุณด้านการบรรเทาอาการปวดข้อและการเสริมสร้างการทำงานของสมอง ลำไยยังอาจช่วยคลายความเหนื่อยล้าได้ด้วย โดยมีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าหนูที่กินสารสกัดจากเมล็ดลำไยมีอาการเหนื่อยล้าน้อยกว่าเมื่อไม่ได้กิน ส่งผลให้สามารถว่ายน้ำได้นานยิ่งขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการล้าของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเพียงเท่านี้ยังบ่งบอกอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเป็นการทดลองในสัตว์ซึ่งมีกลไกการทำงานของร่างกายแตกต่างจากคน ต้องรอให้มีการศึกษาในคนโดยตรงเท่านั้นจึิงจะยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้
กินลำไยรักษาโรค ปลอดภัยหรือไม่
ลำไยเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระและต้านโรคที่ดีหากกินในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องจำกัดน้ำตาลในอาหาร ส่วนการใช้ในรูปแบบอาหารเสริมนั้น ข้อมูลการวิจัยด้านความปลอดภัยเท่าที่มีในปัจจุบันระบุว่าการให้หนูกินสารสกัดจากเมล็ดลำไยต่อเนื่องเป็นเวลา 13 สัปดาห์ไม่ก่อให้เกิดพิษหรืออันตรายต่อตัวหนูแต่อย่างใด ส่วนการกินในระยะเวลานานกว่านั้นยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรใช้สารสกัดจากลำไยเป็นเวลานาน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม