เพศที่สาม หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ถูกพูดถึงและเข้ามามีบทบาทตามสื่อต่าง ๆ มากขึ้น สังคมไทยในปัจจุบันจึงดูเปิดกว้างเรื่องการแสดงออกทางเพศและให้ความสำคัญกับสิทธิของเพศที่สามมากกว่าแต่ก่อน ทว่าวัยรุ่นเพศที่สามบางรายยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคนรอบข้างและมีแนวโน้มถูกรังแกในสถานศึกษา รวมถึงเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนบางกลุ่มยังมองว่าเพศที่สามนั้นผิดปกติหรือแปลกแยกจากสังคม การได้รับความเข้าใจจากพ่อแม่และคนใกล้ตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้วัยรุ่นกลุ่มนี้กล้ายอมรับตัวตนและเป็นเกราะป้องกันพวกเขาจากปัญหาดังกล่าว
ความหมายของเพศที่สาม
คำว่าเพศที่สามถูกนำมาใช้เรียกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีเพศวิถีเป็นเลสเบี้ยน (Lesbian) เกย์ (Gay) หรือไบเซ็กชวล (Bisexual) รวมถึงผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นคนข้ามเพศ (Transgender) ซึ่งความหมายของเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศนั้นอธิบายได้ดังนี้
- เพศวิถี (Sexual Orientation) คือความรู้สึก อารมณ์เสน่หา รสนิยมทางเพศ หรือความพึงพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่
- รักต่างเพศ คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศตรงข้าม โดยต้องการมีความสัมพันธ์ทางกายและทางใจกับบุคคลต่างเพศ เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย
- รักเพศเดียวกัน คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน ต้องการมีความสัมพันธ์ทางกายและทางใจกับเพศเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกันหรือที่เรียกว่าเลสเบี้ยน และผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน เรียกว่าเกย์
- ไบเซ็คชวล คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีอารมณ์เสน่หาและมีความสัมพันธ์ทางกายทางใจกับเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันก็ได้
- ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือผู้ที่ไม่สนใจหรือฝักใฝ่ในการมีเพศสัมพันธ์ แต่อาจรู้สึกสนิทสนมผูกพันกับหรือมีความรักกับบุคคลอื่นได้เป็นปกติ
- อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือการรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง บางคนมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับโครงสร้างทางร่างกายและอวัยวะเพศ ทว่าบางคนมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกายและอวัยวะเพศ โดยเรียกบุคคลในกลุ่มหลังว่าคนข้ามเพศ เช่น ผู้ที่มีโครงสร้างทางร่างกายเป็นผู้ชายแต่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิง ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่ากะเทย หรือผู้ที่มีโครงสร้างทางร่างกายเป็นผู้หญิงแต่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชาย ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าทอม อย่างไรก็ตาม คนข้ามเพศไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกายและอวัยวะเพศเสมอไป แต่อาจหมายถึงผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้
เพศที่สามเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
โดยปกติคนเราไม่สามารถเลือกหรือเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ ทำนองเดียวกับการที่ไม่สามารถเลือกสีดวงตาหรือกำหนดความสูง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นตามธรรมชาติ นักวิจัยคาดว่าเพศที่สามเกิดจากอิทธิพลของหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู เพื่อน หรือสภาพสังคม ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำให้พ่อแม่บังคับหรือชักจูงบุตรให้เปลี่ยนรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนให้เปลี่ยนไม่ได้และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ที่ถูกบังคับด้วย
เพศที่สามเป็นความผิดปกติหรือไม่ ?
ก่อนหน้านี้เพศที่สามเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ทว่าแท้ที่จริงแล้วการรักเพศเดียวกันและการเป็นไบเซ็กชวลไม่ใช่อาการทางจิตแต่อย่างใด แต่เป็นความพึงพอใจและรสนิยมส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ส่วนคนข้ามเพศนั้น สมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาจัดให้เป็นภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Gender Dysphoria) ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตเช่นกัน เป็นเพียงความวิตกกังวลและไม่พอใจที่มีโครงสร้างทางร่างกายไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง คนข้ามเพศส่วนใหญ่จึงพยายามเปลี่ยนลักษณะภายนอกร่างกายให้คล้ายกับเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การรับประทานฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างและลักษณะร่างกาย รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ
ความเสี่ยงของวัยรุ่นเพศที่สาม
วัยรุ่นถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและทางเพศ เช่น รูปร่างและฮอร์โมนที่เป็นสัญญาณของการก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การเริ่มเกิดความรู้สึกทางเพศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม จึงเป็นช่วงที่ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนจากพ่อแม่หรือคนรอบข้างเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่พบว่าตนเองเป็นเพศที่สามซึ่งอาจต้องเผชิญกับความรู้สึกสับสนและวิตกกังวล บางรายไม่กล้าเปิดเผยตัวตนเพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับหรือกลัวพ่อแม่ผิดหวัง ซึ่งการเปิดเผยตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากครอบครัวและสังคมรอบข้างเข้าใจ ทว่าวัยรุ่นเพศที่สามที่ไม่ได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้างอาจเสี่ยงต่อปัญหาต่อไปนี้
- ความรุนแรง วัยรุ่นเพศที่สามเสี่ยงต่อการถูกหยอกล้อ กลั่นแกล้ง หรือโดนรังแกทั้งทางคำพูด ทางร่างกาย และทางสังคม เช่น การด่าทอ การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม โดยมีงานวิจัยจากหลายสถาบันชี้ว่านักเรียนที่เป็นเพศที่สามจำนวนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพียงเพราะเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
- การแก้ปัญหาผิดวิธี วัยรุ่นเพศที่สามที่ถูกรังแกหรือถูกคุกคามทางเพศมีแนวโน้มได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือโรคเครียดตามมา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเพียงลำพังโดยไม่สามารถเล่าหรือระบายให้พ่อแม่ฟัง และอาจนำไปสู่การรับมือกับปัญหาแบบผิดวิธีในที่สุด เช่น การใช้สารเสพติด และการฆ่าตัวตาย ทั้งยังมีงานวิจัยระบุว่าวัยรุ่นเพศที่สามเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย
นอกจากนั้น ความรักในวัยรุ่นไม่ว่าเพศใดก็ตามมักมีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง พ่อแม่และคนใกล้ชิดควรส่งเสริมให้วัยรุ่นรู้จักป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น
การดูแลวัยรุ่นเพศที่สาม
ความเข้าใจ เอาใจใส่ และการสนับสนุนของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่และคุณครู ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้วัยรุ่นเพศที่สามกล้ายอมรับในตัวตนและภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น ซึ่งหลักสำคัญที่ควรนำมาปรับใช้มีดังนี้
การสนับสนุนจากสถาบันครอบครัว เป็นธรรมดาที่พ่อแม่อาจรู้สึกตกใจและผิดหวังเมื่อพบว่าลูกเป็นเพศที่สาม แต่ก็ไม่ควรแสดงความโกรธหรือความไม่พอใจต่อลูก ควรชื่นชมที่ลูกกล้าเปิดเผยตัวตนให้คนอื่นรับรู้และพยายามปรับทัศนคติของตนเองต่อกลุ่มเพศที่สามทีละน้อย เพราะพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่วัยรุ่นกลุ่มนี้ โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- พูดคุยกับลูกเป็นประจำ รับฟังความคิดเห็นของพวกเขาด้วยความเข้าใจโดยไม่มีอคติ และให้คำปรึกษาเมื่อลูกมีปัญหาหรือไม่สบายใจ
- แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องเพศกับลูกอย่างเปิดเผยและแนะนำให้รู้จักการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี
- สนับสนุนให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัยและทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
- สังเกตสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าลูกถูกรังแกหรือรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ผลการเรียนต่ำลง ไม่อยากไปโรงเรียนหรือโดดเรียน ข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติด แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น
การสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา ทางโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอคติต่อเพศที่สาม ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอนหรือพฤติกรรมและคำพูดของคุณครู ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการหยอกล้อหรือทำให้ผู้อื่นมองว่าวัยรุ่นเพศที่สามเป็นตัวตลก
- หลีกเลี่ยงการใช้คำที่แสดงอคติ เช่น การเบี่ยงเบนทางเพศ เพศทางเลือก เป็นต้น
- สนับสนุนให้นักเรียนเคารพซึ่งกันและกันและมีมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ คุณครูควรสอนเพศศึกษาให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนและสอนวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง รวมถึงนำหัวข้อเพศที่สามมาเป็นหนึ่งในหลักสูตรการสอนเพื่อให้นักเรียนคนอื่นเข้าใจเพศที่สามมากขึ้น ควรวางตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดีเมื่อนักเรียนมีปัญหาหรือรู้สึกไม่สบายใจ รวมทั้งแจ้งผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตทันทีหากสังเกตเห็นว่านักเรียนมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ดังนี้
- พูดถึงการฆ่าตัวตายหรือความตาย
- เขียนข้อความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือการสูญเสีย
- ใช้คำพูดที่มีความหมายโดยนัยว่าไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
- ให้สิ่งของสำคัญของตนเองแก่บุคคลอื่น
- ไม่อยากเรียนหนังสือหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน
- มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายหรือเข้าไปข้องเกี่ยวกับสารเสพติด
นอกจากพ่อแม่และคุณครูจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนวัยรุ่นเพศที่สาม ในปัจจุบันยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากมายที่บริการให้คำปรึกษาและส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่กลุ่มเพศที่สาม เช่น คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic หรือ Gen V Clinic) ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีนของสภากาชาดไทย และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พ่อแม่ที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีลูกเป็นเพศที่สามหรือตัววัยรุ่นเองที่มีความวิตกกังวลและไม่กล้าพูดคุยกับคนใกล้ชิด สามารถติดต่อหน่วยงานเหล่านี้เพื่อขอคำปรึกษาได้