อาการปากบวมหรือริมฝีปากบวมเป็นอาการที่หลายคนอาจเคยพบเจอ อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ ริมฝีปากบวมโตกว่าปกติ ปากเจ่อ โดยอาจเกิดกับริมฝีปากบนหรือริมฝีปากล่าง ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือริมฝีปากทั้งสองส่วน อาการปากบวมอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น เจ็บริมฝีปาก โดยเฉพาะเมื่อกดหรือสัมผัส ปากแห้ง อาการคันรอบปาก หรือเป็นแผลบริเวณริมฝีปาก ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ
อาการริมฝีปากบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการแพ้ การบาดเจ็บ การติดเชื้อ และอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน อาการปากบวมที่ไม่รุนแรงอาจหายเองได้ แต่ถ้าหากอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม เพราะบางครั้งอาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ ในบทความนี้ได้รวมสาเหตุของอาการปากบวมที่พบได้บ่อย วิธีสังเกตอาการ และการรักษาในเบื้องต้นมาให้ได้อ่านกัน
สาเหตุของอาการปากบวมที่พบได้บ่อย
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการริมฝีปากบวมแบ่งออกได้ 2 สาเหตุ อย่างแรกคือการอักเสบบริเวณริมฝีปาก และอย่างที่สองคือของเหลวหรือน้ำในเซลล์บริเวณริมฝีปากมีปริมาณมากขึ้น โดยทั้งสองสาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยดังนี้
1. อาการแพ้
ปากบวมอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้จากโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ อาการแพ้อาหาร และแพ้ยา โดยกลไกของโรคภูมิแพ้คือการได้รับสารก่อภูมิแพ้ (Allergens) ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสผ่านผิวหนัง การสูดดม การรับประทาน รวมถึงการใช้ยาหรือการฉีดสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย เมื่อเราได้รับสารก่อภูมิแพ้ สมองและร่างกายจะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamines) ซึ่งทำหน้าที่จัดการกับสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงอาการปากบวมเกิดขึ้น
สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลงสาบ สารเคมีบางชนิด รังแคและขนของสัตว์เลี้ยง สำหรับอาหารที่คนแพ้ได้บ่อย เช่น ไข่ ข้าวสาลี ถั่ว นม และอาหารทะเล นอกจากนี้ การถูกแมลงกัดต่อยและการใช้ยาก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน
นอกจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่ได้พูดถึงไปแล้ว ผลิตภัณฑ์หรือของใช้ต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองก็อาจทำให้เกิดอาการคล้ายอาการแพ้ได้ เช่น ลิปสติก ลิปมัน ครีมทาหน้า ครีมกันแดด ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องมือเหล็กสำหรับจัดฟัน เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้มือสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้แล้วนำมาสัมผัสกับริมฝีปาก ใบหน้า หรือบริเวณใกล้เคียงก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอาการริมฝีปากบวมได้เช่นกัน
อาการปากบวมจากภูมิแพ้ (Allergic Angioedema) มักเกิดร่วมกับอาการแพ้อื่น ๆ เช่น ผื่นแดงคัน ผิวหนังบวม ริมฝีปากระคายเคือง แห้ง ลอก คันปาก คัดจมูก น้ำมูกไหล ตาแดง และน้ำตาลไหล เป็นต้น ในบางคนอาจพบกับภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง อย่างหายใจไม่ออก เสียงหายใจหวีดแหบ คอบวม หน้าบวม เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง หมดสติ หรืออันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากพบสัญญาณการแพ้ที่รุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที
2. Angioedema
Angioedema (แองจีโออีดีมา) คือ การบวมใต้ชั้นผิวหนังที่พบได้หลายส่วน โดยเฉพาะรอบดวงตา มือ เท้า ลิ้น และริมฝีปาก อาการปากบวมจากโรคภูมิแพ้ก็จัดว่าเป็นการบวมชั้นใต้ผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่ง Angioedema สามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิด เช่น การบวมชั้นใต้ผิวหนังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากอาการแพ้ การบวมใต้ชั้นผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุ และการบวมใต้ชั้นผิวหนังที่เกิดจากกรรมพันธุ์
อาการปากบวมจาก Angioedema มักไม่ทำให้เกิดอาการคันบริเวณริมฝีปากหรือรอบ ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดตรงจุดที่บวม ร่วมกับอาการกดเจ็บ (Tenderness) หรือแสบร้อน ส่วนใหญ่อาการอาจดีขึ้นภายใน 24–48 ชั่วโมง
3. การติดเชื้อ
เมื่อเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะทำหน้าที่จัดการเชื้อเหล่านี้ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่ติดเชื้อ ดังนั้น เมื่อริมฝีปาก เหงือก หรือช่องปากติดเชื้อก็อาจทำให้เกิดอาการปากบวม รู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัสริมฝีปาก มีอาการกดเจ็บ และเป็นแผลในช่องปาก
อาการปากบวมจากติดเชื้ออาจปรากฏขึ้นหลังติดเชื้อภายในหนึ่งวัน ในกรณีที่ริมฝีปากบวมร่วมกับเกิดแผลบริเวณริมฝีปากอาจสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเกิดจากโรคเริม (Herpes) และโรคมือเท้าปากจากเชื้อคอกซากีไวรัส (Coxsackievirus)
ทั้งนี้การติดเชื้อถือเป็นภาวะที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ดังนั้นหากพบอาการของการติดเชื้อบริเวณริมฝีปากที่ได้กล่าวไป และอาการติดเชื้ออื่น ๆ อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น เป็นหนอง และเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
4. การบาดเจ็บ
ริมฝีปากเป็นอวัยวะที่บอบบางและไวต่อการกระตุ้น เพียงการสัมผัสกับแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ติดต่อกันระยะเวลาหนึ่งก็อาจทำให้ริมฝีปากแห้ง ระคายเคือง ไหม้ และอักเสบได้ หรือการถูกกระแทกจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ส่งผลให้เกิดแผล รอยช้ำ และเลือดออกได้เช่นกัน ซึ่งอาจบาดเจ็บเหล่านี้อาจส่งผลให้ปากบวมได้ด้วย
แรงกดทับบริเวณริมฝีปากเป็นประจำก็ส่งผลให้เนื้อเยื่อและเส้นประสาทบริเวณนั้นอักเสบและบวมขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยนี้มักพบในนักดนตรีที่ใช้เครื่องเป่า เพราะต้องใช้ริมฝีปากประกบกับเครื่องดนตรีเป็นประจำ
5. ปัญหาสุขภาพ
การเจ็บป่วยบางอย่างอาจส่งผลให้เกิดอาการปากบวมได้ เช่น
- Cheilitis คือ ภาวะอักเสบบริเวณริมฝีปากที่ส่งผลให้ปากบวม เกิดอาการกดเจ็บ น้ำลายหลั่งออกมามากขึ้น เป็นภาวะที่พบได้น้อยและแบ่งได้หลายชนิดตามสาเหตุหรือลักษณะการอักเสบ เช่น Cheilitis Glandularis หรือภาวะริมฝีปากล่างอักเสบ และ Cheilitis Granulomatous หรือภาวะริมฝีปากบนอักเสบในช่วงแรก
- กลุ่มอาการเมลเคอร์สสัน-โรเซ็นทาล (Melkersson-Rosenthal Syndrome: MRS) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติจากการอักเสบของระบบประสาทบริเวณใบหน้า ส่งผลให้เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก และอาจทำให้ใบหน้าเป็นอัมพาตได้ อาการของ MRS มักเริ่มพบในช่วงวัยรุ่น โดยอาการอาจเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นเวลาหลายวันไปจนถึงหลายปี กลุ่มอาการนี้พบได้ยากและคาดว่ามีสาเหตุมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ
- โรคมะเร็งริมฝีปาก (Lip Cancer) เป็นโรคที่พบได้ยากเช่นเดียวกัน สัญญาณเบื้องต้นของโรคมะเร็งริมฝีปากสังเกตได้จากแผลที่พบ โดยอาจพบทั้งบริเวณด้านในและด้านนอกของริมฝีปาก และมักรักษาไม่หาย นอกจากอาการปากบวม แผลบนริมฝีปาก ก็อาจพบอาการชารอบริมฝีปากและริมฝีปากไม่มีความรู้สึกได้
นอกจากนี้ การทำทันตกรรม การฉีดยาชา และการทำศัลยกรรมบริเวณใบหน้าและริมฝีปากอาจทำให้ปากบวมได้เช่นกัน
วิธีบรรเทาอาการปากบวมเบื้องต้น
แม้ว่าอาการริมฝีปากบวมส่วนใหญ่อาจหายเองได้โดยใช้เวลาไม่นาน แต่เพื่อลดอาการปวดบวมและอักเสบที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต วิธีต่อไปนี้อาจช่วยได้
- ประคบเย็นบริเวณริมฝีปากด้วยการใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กที่สะอาดและนุ่มมาห่อถุงน้ำแข็ง หรือนำไปชุบกับน้ำเย็นบิดหมาด จากนั้นนำมาประคบริมฝีปาก 10-15 นาทีเป็นพัก ๆ และหยุดเมื่อรู้สึกว่าเย็นเกินไป ความเย็นจะลดการไหลเวียนเลือดบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดบวม เพื่อป้องกันการระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบโดยตรงเพราะจะทำให้ผิวหนังบาดเจ็บ
- ใช้ครีมหรือสารที่มีฤทธิ์ปลอบประโลมผิว ในกรณีที่ริมฝีปากบวมเนื่องจากการระคายจากภายนอก อย่างริมฝีปากไหม้จากการตากแดด
- ใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการปากบวมจากโรคภูมิแพ้ โดยอาจเลือกใช้ยารับประทานหรือยาทาก็ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ
- ใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAID) ที่ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบ ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เช่นเดียวกัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ปากบวม เช่น สารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ สารเคมี น้ำหอม สารกันเสีย แอลกอฮอล์ และอาหารรสจัด เป็นต้น นอกจากนี้ควรระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อริมฝีปาก
เพียงเท่านี้ก็ช่วยบรรเทาอาการริมฝีปากบวมได้ในเบื้องต้น โดยระยะเวลาอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากการดูแลตนเอง เป็นติดต่อกันนาน อาการรุนแรงขึ้น เกิดแผลบริเวณริมฝีปาก เป็นไข้ และหนาวสั่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ริมฝีปากบวมผิดปกติ ฉีกขาด และเลือดออกมาก หรือพบสัญญาณของอาการแพ้รุนแรง อย่างหายใจไม่ออก คอบวม หน้าบวม คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้องร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันที
การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาจเป็นวิธีที่ดีสุดสำหรับการป้องกันอาการปากบวม แต่ในบางครั้งอาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งหากพบอาการปากบวมเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นติดต่อกันนานควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม