สาเหตุที่ทำให้ปวดหลังส่วนล่าง และวิธีบรรเทาอาการด้วยตัวเอง

ปวดหลังส่วนล่างเป็นอีกอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดและความรุนแรงแตกต่างกัน โดยอาจมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยและหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ซึ่งมักส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา 

สาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่างมักเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลัง ความเสียหายและความผิดปกติของกระดูกสันหลัง และโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งการดูแลรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างอาจแตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ หากสงสัยว่าปวดหลังส่วนล่างเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้

สาเหตุที่ทำให้ปวดหลังส่วนล่าง และวิธีบรรเทาอาการด้วยตัวเอง

อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นอย่างไร

หลังส่วนล่างคือบริเวณบั้นเอวลงไป เป็นส่วนที่กระดูกสันหลังเชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกราน โดยบริเวณนี้จะรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน เป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวและเกิดการตึงตัวได้บ่อยจากการทำกิจกรรม ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกบริเวณนี้เกิดการฉีกขาดและบาดเจ็บของได้ 

โดยทั่วไป อาการปวดหลังส่วนล่างมักมีลักษณะ ดังนี้

  • มีอาการปวดตื้อ ปวดแปลบ หรือปวดคล้ายเป็นตะคริวบริเวณหลังส่วนล่าง และอาจปวดลามไปยังสะโพกและต้นขา
  • รู้สึกปวดหลังมากขึ้นเมื่อก้มตัว ยกของหนัก ขณะนั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน
  • มีอาการตึงบริเวณหลัง ไม่สามารถยืดหลังให้ตรงได้ทันทีหลังลุกขึ้นยืน และอาจมีอาการหลังค่อม
  • รู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณหลังส่วนล่าง

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหลังส่วนล่างนานกว่า 72 ชั่วโมง ปวดรุนแรง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลดลงผิดปกติ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และขาอ่อนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที

ปวดหลังส่วนล่างเกิดจากอะไร

ปวดหลังส่วนล่างอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกาย หรืออาจเกิดจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น

การบาดเจ็บของเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ

การบาดเจ็บบริเวณหลังส่วนล่างพบได้บ่อย โดยมักเกิดจากยกของหนัก หรือยกผิดท่า รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างหนัก การไอ จาม เอี้ยวตัว หรือก้มตัวผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างเฉียบพลัน

ปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกสันหลังจะอยู่คั่นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและแรงกระแทกต่าง ๆ ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นจุดที่ได้รับบาดเจ็บได้ง่าย และมักเสื่อมลงตามวัย ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างโดยที่อาการมักจะไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • เยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกชั้นนอกฉีกขาด โดยมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดนานเป็นสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี และอาจทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่บางคนอาจไม่มีอาการปวดเลย
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc) เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตก ทำให้ส่วนประกอบตรงกลางของหมอนรองกระดูกไหลออกมากดเบียดเส้นประสาท หากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทไซอาติก (Sciatica) อาจเกิดทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างลามไปยังสะโพก ขา และเท้า โดยอาจปวดแสบร้อน หรือปวดเหมือนเข็มทิ่ม
  • หมอนรองกระดูกเสื่อม (Degenerative Disc) เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกที่รับน้ำหนักและแรงกระแทกเกิดการเสียดสีกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสึกหรอและเกิดอาการปวด ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ และทำงานที่ใช้แรงมากจะเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้น

ความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง

ความผิดปกติของกระดูกสันหลังอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการตีบแคบลงของโพรงกระดูกสันหลัง และกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวด ชา หรืออ่อนแรง มักเกิดในผู้สูงอายุที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมลงตามวัย

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้เช่นกัน ซึ่งเป็นภาวะที่แนวกระดูกสันหลังผิดรูปและคดไปจากแนวปกติ ทำให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน และบางคนอาจมีอาการปวด ชา และอ่อนแรง โรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดในผู้สงอายุที่มีภาวะข้ออักเสบ

สาเหตุอื่น ๆ

ผู้มีน้ำหนักตัวมากหรือมีโรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น ข้ออักแสบ ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) โรคเกี่ยวกับไตและกระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก มะเร็งที่ไขสันหลัง ผู้ที่มีความเครียด และวิตกกังวลอย่างรุนแรง หรือมีโรคซึมเศร้า อาจมีอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยเช่นกัน

วิธีบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยตัวเอง

ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น ยกของหนัก เอี้ยวตัว หรือเล่นกีฬา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น 
  • ประคบเย็น (ICE) ด้วยเจลประคบ หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวดหลัง โดยประคบนานครั้งละ 20–30 นาที วันละ 2–3 ครั้ง 
  • ประคบร้อนหลังจากอาการปวดผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง โดยใช้เจลประคบ แผ่นประคบร้อนสำเร็จรูป หรือถุงน้ำร้อน เพื่อลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยระวังอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปจนลวกผิว และไม่ควรประคบนานเกินครั้งละ 20 นาที
  • อาบหรือแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยผ่อนคลายอาการปวดและตึงบริเวณหลัง
  • นอนตะแคงโดยใช้หมอนข้างหนุนระหว่างขาทั้งสองข้าง หรือนอนหงายแล้วงอเข่า จากนั้นใช้หมอนหรือผ้าขนหนูม้วนไว้ใต้ต้นขาเพื่อลดแรงกดทับที่หลังส่วนล่าง
  • ทายาแก้ปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

หากอาการปวดไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา ซึ่งวิธีรักษาอาจแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังส่วนล่าง เช่น การให้รับประทานยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น การฉีดยาสเตียรอยด์แก้ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง กายภาพบำบัด การจัดกระดูก และการผ่าตัด

การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปวดหลังส่วนล่างเบื้องต้นอาจทำได้โดยนั่งและยืนในท่าที่ถูกต้อง ไม่ควรก้มตัวลงหยิบของแต่ควรค่อยๆ ย่อเข่าลงหยิบของ และไม่บิดหรือเอี้ยวตัวขณะยกของหนัก หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ และไม่สูบบุหรี่