หย่าร้าง บอกลูกอย่างไรเมื่อชีวิตคู่ต้องจบลง ?

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคู่อาจบานปลายไปสู่การหย่าร้างได้ ซึ่งเป็นวิกฤตครอบครัวที่ไม่มีใครอยากเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่สามีภรรยาที่มีลูกด้วยกันแล้ว การบอกลูกเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจสร้างความลำบากใจให้กับทั้ง 2 ฝ่ายไม่น้อย เพราะการแยกทางกันของพ่อแม่อาจกระทบต่อสภาพจิตใจและส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรร่วมมือกันหาวิธีที่เหมาะสมในการบอกลูกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทางออกที่ตนตัดสินใจ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

Divorce

ปัญหาหย่าร้างส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไร ?  

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตปฏิกิริยาและพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังการหย่าร้างได้อย่างเหมาะสม โดยการหย่าร้างอาจส่งผลกระทบต่อเด็กแตกต่างกันไปตามช่วงวัย ดังนี้

  • เด็กวัยก่อนเรียน เด็กในวัยนี้ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก แต่อาจแสดงพฤติกรรมที่ถดถอยหรือเด็กกว่าวัย เช่น จากเดิมที่เริ่มขับถ่ายได้เองก็อาจกลับมาปัสสาวะราด เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กอาจรู้สึกสับสน วิตกกังวล และโมโหง่ายด้วย
  • เด็กอายุ 6-9 ปี แม้จะยังไม่โตพอที่จะเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่เด็กวัยนี้รับรู้ได้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติ โดยธรรมชาติแล้วเด็กก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ และอาจอธิบายความรู้สึกของตนออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ซึ่งเด็กอาจแสดงความโกรธ ไม่ตั้งใจเรียน หรืออาจมีปัญหาด้านการเรียน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี นอกจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว เด็กวัยนี้จะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเพื่อนหรือครู การหย่าร้างอาจทำให้เด็กไปปรึกษาปัญหาหรือพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตนกับบุคลลอื่น แต่เด็กก็อาจแสดงพฤติกรรมโกรธ เสียใจ และอาจมีภาวะซึมเศร้าได้ พ่อแม่จึงควรรับฟังความคิดเห็นของลูกในกรณีที่ลูกต้องการอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งหลังการหย่าร้าง

บอกลูกอย่างไรเมื่อต้องหย่าร้าง ? 

เด็กจะมีกระบวนการแสดงอารมณ์โศกเศร้าเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความโกรธ เสียใจ ปฏิเสธการตอบคำถามหรือความช่วยเหลือ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยเด็กบางคนอาจรู้ว่าพ่อแม่หย่าร้างกัน แต่บางคนอาจรู้สึกตกใจและเสียใจมาก และแม้ว่าการหย่าร้างจะส่งผลกระทบต่อเด็กทุกวัย แต่เด็กเล็กอาจเป็นวัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

คำแนะนำต่อไปนี้ อาจเป็นแนวทางที่ช่วยให้เด็กเข้าใจและผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ได้ดีขึ้น

  • หาจังหวะที่เหมาะสม ควรหาเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการบอกลูกเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกอึดอัด โดยอาจบอกลูกทุกคนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันก่อน แล้วค่อยพูดคุยกับลูกแต่ละคนตามลำพัง เพื่อทำความเข้าใจ และสอบถามความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • บอกลูกให้ชัดเจนเกี่ยวกับการหย่าร้าง บอกความจริงแก่ลูกเกี่ยวกับการตัดสินใจแยกทางกัน แต่อาจไม่จำเป็นต้องบอกความจริงทั้งหมดหากบางเรื่องอาจกระทบจิตใจลูก เพราะเด็กบางคนอาจรู้สึกกดดันและพยายามหาทางออกให้พ่อแม่กลับมาคืนดีกัน โดยอาจบอกลูกว่าพ่อกับแม่พยายามหาทางแก้ไขร่วมกันแล้ว แต่การตัดสินใจแยกทางกันอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด
  • อธิบายว่าที่พ่อแม่เลิกกันไม่ใช่ความผิดของลูก เมื่อเกิดปัญหาหย่าร้างขึ้น เด็กมักคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อกับแม่ต้องแยกทางกัน โดยเด็กอาจคิดว่าตนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือมีผลการเรียนไม่ดี ดังนั้น ควรบอกเหตุผลแก่ลูกว่าการที่พ่อแม่แยกทางกันนั้นมาจากการตัดสินใจของพ่อแม่เอง ซึ่งลูกไม่ใช่สาเหตุของการหย่าร้างนี้
  • รับฟังความรู้สึกของลูก เด็กหลายคนอาจซ่อนความรู้สึกเศร้าเสียใจไว้ภายใน พ่อแม่จึงควรให้กำลังใจและช่วยให้ลูกแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา แต่ไม่ควรคาดคั้นเพราะเด็กอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ โดยอาจสังเกตท่าทางของลูกแล้วให้ลูกระบายความรู้สึกที่เจ็บปวดของตนเองออกมา พร้อมบอกว่าพ่อแม่เองก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
  • ให้ความรักและความมั่นใจแก่ลูก แสดงความรัก บอกลูกว่าพ่อกับแม่ยังรักลูกเหมือนเดิมและจะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ให้ความมั่นใจแก่ลูกว่าพ่อแม่จะยังดูแลให้ความปลอดภัยหลังการหย่าร้าง และจะรักลูกเสมอไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะแยกทางกันก็ตาม
  • ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการเลี้ยงดูลูก เด็กต้องการรู้แผนรับมือเรื่องที่อยู่อาศัยของตน รวมถึงการใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งฝั่งพ่อและแม่หลังการหย่าร้าง ซึ่งก่อนที่จะพูดเรื่องนี้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนการที่ชัดเจนร่วมกันก่อน และควรแน่ใจว่าเด็กพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ควรให้ลูกที่อยู่ในวัยรุ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เช่น การย้ายบ้าน หรือการย้ายโรงเรียน เป็นต้น โดยพยายามให้ลูกแสดงความคิดเห็นและบอกสิ่งที่ต้องการ แต่ไม่ควรกดดันให้เด็กต้องตัดสินใจหรือเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

เทคนิคช่วยลูกผ่านวิกฤตการหย่าร้าง 

พ่อแม่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปได้ หากคู่รักจบความสัมพันธ์แบบจากกันด้วยดีก็จะยิ่งช่วยลดผลกระทบต่อเด็กได้ อย่างไรก็ตาม วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ลูกรักรับมือกับปัญหาการหย่าร้างได้ดีขึ้น

  • กำหนดสิทธิในการดูแลลูก โดยคำนึงถึงเหตุผลและความต้องการของลูกด้วย
  • ให้ลูกมีโอกาสพบปะหรือติดต่อฝ่ายที่แยกออกไปอย่างสม่ำเสมอ
  • มีส่วนร่วมและช่วยเหลือลูกในการทำกิจวัตรประจำวันตามปกติต่อไป
  • คอยสอดส่องพฤติกรรมของลูกว่าเหมาะสมและมีพัฒนาการที่เป็นไปตามวัยหรือไม่
  • กรณีที่มีลูกมากกว่า 1 คน ควรใช้เวลากับลูกแต่ละคนให้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองสำคัญ

สิ่งที่ไม่ควรทำหลังการหย่าร้าง

นอกจากวิธีที่ช่วยให้ลูกผ่านปัญหาการหย่าร้างไปได้ด้วยดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดให้ร้ายหรือพูดถึงข้อเสียของอีกฝ่ายให้ลูกฟัง ไม่ควรใช้ลูกเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ต้องไม่ให้ลูกเลือกข้างหรืออยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่คาดหวังให้ลูกแทนที่หรือทำหน้าที่ของอีกฝ่าย และไม่ควรทำลายความรักหรือความภักดีที่ลูกมีต่ออดีตคู่สมรส

เมื่อใดที่พ่อแม่ควรมองหาความช่วยเหลือ ?

หากพยายามเปิดใจพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเวลาผ่านพ้นไปหลายเดือนแล้ว แต่ลูกยังคงมีปัญหาและมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น รู้สึกโกรธ เศร้าเสียใจ และมีอาการซึมเศร้า เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกันหาหนทางเพื่อช่วยเหลือลูก โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำแนะนำปัญหาครอบครัวหรือจิตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการพูดคุยกับลูก หรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและบุคคลใกล้ชิดของลูก เพื่อพูดคุย ให้กำลังใจ และทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น รวมทั้งอาจให้ลูกเข้าร่วมกลุ่มเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างกัน เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน