อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน 7 สาเหตุและวิธีการรับมือ

อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน เป็นอาการที่รู้สึกว่าร่างกายหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหลังจากตื่นนอน แม้อยู่ในขณะยืนหรือนั่งอยู่กับที่ ซึ่งอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหูชั้นใน การติดเชื้อ โดยผู้ที่มีอาการบ้านหมุนอาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือปวดหัว

บ้านหมุนเป็นหนึ่งในลักษณะของอาการวียนหัวที่อาจเกิดขึ้นนานหลายนาที หลายชั่วโมง หรือหลายวัน โดยอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาการบ้านหมุนอาจส่งผลต่อการทรงตัว อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน

อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน (Benign paroxysmal positional vertigo: BPPV)

โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อนอาจทำให้มีอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน โดยอาจเกิดจากตะกอนหินปูนหลุดเข้าไปยังหูชั้นใน ซึ่งเป็นชั้นที่มีอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัว เมื่อขยับหัวไปมาหรือลุกขึ้นจากเตียงนอน อาจทำให้ก้อนหินปูนที่หลุดเข้าไปในหูชั้นในเคลื่อนที่ไปมา และส่งผลให้เกิดอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน รวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ สูญเสียการทรงตัว

2. ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลุกขึ้นยืนหลังจากอยู่ในท่านอนเป็นเวลานาน ซึ่งขณะที่ยืนเลือดจะไหลเวียนไปยังบริเวณกลางลำตัวหรือขามากขึ้นตามแรงโน้มถ่วง จึงทำให้หัวใจมีเลือดไหลเวียนกลับมาน้อยกว่าปกติ และอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ 

โดยผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน เวียนหัว อ่อนเพลีย หมดสติ 

3. ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายไม่ได้รับน้ำในระหว่างการนอนหลับ หรืออาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนมากเกินไป เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและทำให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้น้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนได้

4. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนอาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนระหว่างการนอนหลับไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดอาการ บ้านหมุน ปวดหัว และอ่อนเพลียตามมาได้ แม้ว่าจะนอนพักผ่อนเป็นระยะเวลานานก็ตาม นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับยังอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมไปบริเวณหูชั้นในไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้เช่นกัน

5. โรคหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) 

โรคหูชั้นในอักเสบอาจเกิดขึ้นเมื่อบริเวณหูชั้นในเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส และทำให้เกิดการอักเสบตามมา โดยนอกจากอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนแล้ว ยังอาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว หูอื้อ  

6. โรคประสาทหูชั้นในอักเสบ (Vestibular Neuritis) 

โรคประสาทหูชั้นในอักเสบอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทภายในหูชั้นในที่ควบคุมการทรงตัวเกิดการบวมและอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอน รวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น สูญเสียการทรงตัว คลื่นไส้ อาเจียน

7. การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ และยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด 

วิธีรับมืออาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนอย่างเหมาะสม

ผู้ที่มีอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้หลายวิธี เช่น

  • ค่อย ๆ เปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง จากนั้นขยับไปนั่งบริเวณขอบเตียงและรอสักครู่ ก่อนลุกขึ้นจากเตียงนอน
  • นอนยกหัวให้สูงกว่าร่างกาย โดยอาจใช้หมอนหนุนหัวให้สูงขึ้นเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดียิ่งขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 
  • ใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยในการทรงตัวระหว่างลุกขึ้นจากเตียงนอน เพื่อป้องกันการล้ม

อาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนส่วนใหญ่มักดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก หากอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนมีอาการรุนแรง เกิดขึ้นบ่อย หรือมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดหัวรุนแรง สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น แขนขาชาหรืออ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา 

โดยการรักษาอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากอาการบ้านหมุนหลังตื่นนอนเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะ ซึ่งตัวยาและปริมาณยาอาจแตกต่างกันไปตามการติดเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาต่าง ๆ เช่น ยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) บางชนิด เพื่อรักษาอาการบ้านหมุนให้ดีขึ้น