อาการเครียดมากเกินไป รู้จักวิธีรับมือก่อนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

อาการเครียดมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีความเครียดมากเกินไปจะช่วยให้สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่ตึงเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมรับสถานการณ์นั้น และความเครียดมักจะหายไปภายในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม หากเกิดความเครียดบ่อยหรือเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เราจึงควรรู้จักวิธีรับมือกับอาการเครียดมากเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ 

Too Much Stress Symptoms

อาการเครียดมากเกินไปที่ควรสังเกต

หลายคนอาจมีอาการเครียดมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว หรือเข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่น ๆ โดยสัญญาณที่อาจบ่งบอกอาการเครียดมากเกินไป มีดังนี้

  1. ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ

เมื่อมีอาการเครียดมากเกินไปหรือเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายตึงตัวขึ้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการป้องกันการบาดเจ็บและความเจ็บปวด จึงทำให้มีอาการปวดหัวจากความเครียด ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยตามตัว เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง 

  1. ระบบย่อยอาหารแย่ลง

อาการเครียดมากเกินไปอาจมาในรูปของปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น หิวบ่อย หิวมากกว่าปกติ หรือเบื่ออาหาร หากมีความเครียดเป็นเวลานานจนส่งผลต่อความอยากอาหาร อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ 

นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการอื่น เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก และท้องเสียได้

  1. เจ็บป่วยง่าย 

เมื่อเกิดความเครียดมาก ๆ เป็นเวลานาน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามาก ทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบในร่างกายได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย คนที่มีอาการเครียดมากเกินไปจึงอาจพบว่าตัวเองเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อบ่อย เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ 

  1. ปัญหาการนอนหลับ

ความเครียดมากเกินไปมักส่งผลต่อการนอนหลับ บางคนอาจรู้สึกง่วงนอนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลาจากการหลั่งฮอร์โมนความเครียด จึงทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิจดจ่อ และทำให้ง่วงนอน

อาการเครียดมากเกินไปอาจส่งผลให้วงจรการนอนของบางคนผิดเพี้ยนไป ทำให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ เช่น นอนไม่หลับ หลับยาก หรือหลับไม่สนิท ส่งผลให้วันถัดไปเกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันตามมา

  1. ความจำและสมาธิแย่ลง

อาการเครียดมากเกินไปอาจส่งผลให้ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ความจำแย่ลง ความสามารถในการตัดสินใจลดลง และวิตกกังวลง่าย ผู้มีความเครียดเรื้อรังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งอาจเป็นผลจากฮอร์โมนความเครียด และการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป

  1. สุขภาพจิตแย่ลง

อาการเครียดมากเกินไปอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน โมโห กระวนกระวาย และหงุดหงิดง่าย บางคนอาจรู้สึกเศร้า หดหู่ เหงา โดดเดี่ยว และสิ้นหวัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อีกทั้งในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลด้วย

  1. ระบบสืบพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป

ความเครียดส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศชายและหญิง คนที่มีอาการเครียดมากเกินไปอาจมีความต้องการทางเพศลดลง ผู้ชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และปัญหาในการผลิตอสุจิ 

ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มาแบบกะปริบกะปรอย มามาก ขาดไปหลายเดือน หรือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ความต้องการทางเพศลดลง ตั้งครรภ์ยาก อาการจากภาวะวัยทองและกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรงขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนจากความเครียด

  1. พฤติกรรมผิดปกติ

สัญญาณข้อสุดท้ายที่บ่งบอกอาการเครียดมากเกินไปคือพฤติกรรมที่ผิดปกติเพื่อระบายความเครียด เช่น กัดเล็บ กัดฟันแน่น ดึงผม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติด บางคนอาจมีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมไปเรียนหรือไปทำงาน และปลีกตัวออกจากการทำกิจกรรมกับผู้อื่น

หากมีอาการเครียดมากเกินไปในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคผิวหนัง และโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันได้

รับมืออาการเครียดมากเกินไปให้ถูกวิธี

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการเครียดมากเกินไป ควรรับมือด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • หาสาเหตุของอาการเครียดมากเกินไป เช่น ปัญหาครอบครัว งาน หรือคนรอบข้างที่มีนิสัยเป็นพิษ (Toxic) เพื่อหาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสมจากต้นเหตุ
  • กำหนดขอบเขตที่ตัวเองยอมรับได้ หลีกเลี่ยงการแบกภาระความรับผิดชอบทุกอย่างไว้ ควรรู้จักปฏิเสธหากเป็นสิ่งที่เกินกำลังหรือรู้สึกลำบากใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ชีวิตส่วนตัว หรือความสัมพันธ์
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพจิตดี ลดอาการเครียดมากเกินไป และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอน ซึ่งอาจทำให้นอนหลับยาก
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายเมื่อมีอาการเครียดมากเกินไป เช่น อาบน้ำอุ่น นวด นั่งสมาธิ จดบันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน และทำกิจกรรมที่ชอบ โดยไม่ใช้สารเสพติดในการผ่อนคลายความเครียด
  • พูดคุยกับคนที่พร้อมรับฟังความเครียด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท 

หากมีอาการเครียดมากเกินไปที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น เจ็บป่วยง่ายผิดปกติ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป