อารมณ์ดี สร้างได้ด้วยตัวเอง

อารมณ์ดีเป็นสิ่งที่หลายคนอยากมีติดตัวไว้ เพราะนอกจากจะส่งผลดีในด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ซึ่งเราทุกคนล้วนมีอารมณ์ดีได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนเอง

อารมณ์ดี

อยากมีอารมณ์ดีควรทำอย่างไร

บุคลิกภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อารมณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน คนที่ร่าเริงและมองโลกในแง่บวกมักจะอารมณ์ดีและมีความสุขได้ง่าย อย่างไรก็ตาม คนที่เงียบขรึมหรือมองโลกตามความเป็นจริงนั้นใช่ว่าจะมีอารมณ์ดีไม่ได้ เพราะในปัจจุบัน นักวิจัยพบว่าอารมณ์ที่ดีสร้างได้ด้วยตัวเอง เพียงปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้มีอารมณ์ดี ทำได้ดังนี้

  • ปรับความคิด ความคิดที่มีต่อตนเอง คนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลต่ออารมณ์ของคนเราค่อนข้างมาก การเปลี่ยนความคิดจึงเป็นวิธีพื้นฐานที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์ที่ดี ซึ่งมีหลักการเพียงไม่กี่ข้อ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตัวเอง พยายามมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวในด้านบวก และนึกถึงเรื่องราวดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กิจกรรมที่อยากทำในวันหยุด เป็นต้น
  • เปลี่ยนพฤติกรรม พฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ของคนเราไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพกาย แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและอารมณ์อีกด้วย การเสริมสร้างพฤติกรรมต่อไปนี้จึงอาจช่วยให้มีอารมณ์ดีขึ้น
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนน้อยเกินไปจะส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ในวันถัดไป ทั้งยังมีงานวิจัยอ้างว่าการนอนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ในวัยผู้ใหญ่ ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง ส่วนเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ควรปรับเวลานอนให้นานกว่านี้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอาหารที่ดีนั้นส่งผลดีต่ออารมณ์ไปด้วย โดยควรเน้นธัญพืช ผัก ผลไม้ และอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน โอเมก้า 3 รวมถึงวิตามินดี ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) อันเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์ออกมามากขึ้น พบได้มากในไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน และน้ำมันตับปลา
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาวะอารมณ์ในแง่ลบ
    • พยายามยิ้มให้ตัวเอง โดยมีงานวิจัยชี้ว่าสมองจะตอบสนองต่อการยิ้มและสั่งให้รู้สึกมีความสุข แม้จะเป็นการฝืนยิ้มก็ตาม
    • ออกไปทำกิจกรรมนอกที่พักอาศัย เช่น เดินเล่น ปั่นจักรยาน หรือจัดสวน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและรับอากาศบริสุทธิ์
    • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น วาดรูป ฟังเพลง นั่งสมาธิ เป็นต้น
    • เมื่อมีปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ให้พูดคุยกับคนที่ตนเองไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว
    • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายมีส่วนช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟินซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยให้อารมณ์ดีออกมามากขึ้น
    • จัดสรรกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันให้พอเหมาะ เพราะตารางเวลาที่แน่นจนเกินไปอาจทำให้รู้สึกเครียด
  • สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้มีอารมณ์ดี บรรยากาศบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และอารมณ์ของคนเรา การจัดที่พักอาศัยให้สะอาด เรียบร้อย มีอากาศถ่ายเทสะดวก และแสงแดดส่องถึง จึงอาจช่วยให้มีอารมณ์ดีขึ้นได้

อารมณ์ดีส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างไร

สภาวะจิตใจและอารมณ์ที่ดีไม่เพียงช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพภายนอกและสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ยังทำให้มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้นตามไปด้วย ดังนี้

  • เสริมสร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี คนที่มีอารมณ์ดีมีแนวโน้มเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีการเคลื่อนไหวออกกำลังค่อนข้างบ่อย และมีพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีกว่าคนทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และอาจมีส่วนช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้นได้
  • ป้องกันโรคหัวใจ งานวิจัยบางส่วนอ้างว่าการมีอารมณ์ดีอาจช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหัวใจ อีกทั้งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย
  • ลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล เมื่อคนเรารู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ส่งผลให้สุขภาพการนอนหลับแย่ลงและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงตามมาได้ โดยมีงานวิจัยชี้ว่าคนที่มีอารมณ์ดีมีแนวโน้มหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาน้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อเกิดความเครียด
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ในปัจจุบันมีงานวิจัยอ้างว่า คนที่มีอารมณ์ดีมีโอกาสเป็นหวัดหรือติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจต่ำกว่าคนทั่วไป

นอกจากนั้น ผู้ที่มีอารมณ์ดีอาจมีอัตราการเสื่อมสภาพของร่างกายช้าและเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ของการมีอารมณ์ดีที่กล่าวมาข้างต้นมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับไม่มากนัก จึงยังไม่อาจกล่าวยืนยันได้อย่างชัดเจน

อารมณ์ไม่ดีกับภาวะซึมเศร้าต่างกันอย่างไร

ความรู้สึกหงุดหงิด หมดหวัง หรือเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นรุนแรงและยาวนานอาจไม่ใช่เรื่องปกติ ผู้ที่ประสบสภาวะดังกล่าวอยู่เสมอควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาและเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา เพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้กลับมามีสภาวะอารมณ์และความคิดเป็นปกติดังเดิม