โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดในสะสมสูง ทำให้เกิดเป็นผลึกที่มีลักษณะแหลมตามข้อต่าง ๆ และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการปวด บวม แดงอย่างรุนแรงและฉับพลันบริเวณข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อนิ้วหัวแม่เท้า
กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายย่อยสารพิวรีน ซึ่งสารพิวรีนนั้นเกิดได้จากทั้งในร่างกายเอง และมีอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด โดยปกติแล้วร่างกายจะขจัดกรดยูริกในเลือดผ่านทางปัสสาวะได้เอง แต่ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตกรดยูริกมากผิดปกติหรือขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ หรือการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่มีสารพิวรีนสูง
การเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มให้เหมาะสมถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมอาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรเลี่ยง พร้อมทั้งการเลือกบริโภคอาหารและการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเป็นโรคเก๊าท์มาให้ได้ศึกษากัน
อาหารและเครื่องดื่มแบบไหนที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรเลี่ยง
อาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรเลี่ยง ได้แก่
1. อาหารที่มีพิวรีนสูง
อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เนื่องจากมีอาหารอยู่หลายชนิดที่ให้สารพิวรีนสูง ซึ่งกระบวนการย่อยสลายสารพิวรีนของร่างกายจะส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจนำไปสู่อาการของโรคเก๊าท์ โดยอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น
- เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ไส้ และเซ่งจี๊
- สัตว์เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว
- เนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อเป็ด เนื้อไก่ และเนื้อห่าน
- เนื้อปลาและสัตว์ทะเล เช่น ปลาดุก ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาหมึก ปู กุ้ง หอย และไข่ปลา
- อาหารประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำเกรวี น้ำซุป กะปิ ข้าวโอ๊ต ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วดำ
2. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
นอกจากอาหารแล้ว เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกแหล่งที่มีสารพิวรีนอยู่มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ และเหล้าหมัก อีกทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังอาจส่งผลให้ร่างกายขับกรดยูริกผ่านทางปัสสาวะได้น้อยลง ทำให้ระดับกรดยูริกในสูงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ และควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถขับกรดยูริกออกไปทางปัสสาวะได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
3. อาหารที่มีน้ำตาลและดัชนีน้ำตาลสูง
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณมากอาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
รวมถึงยังมีงานศึกษาที่พบว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูงเป็นประจำอาจเพิ่่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ได้ โดยอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่สูง เช่น น้ำผลไม้ ขนมปัง ขนมหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โยเกิร์ต หรือผลไม้บางชนิด อย่างแอปเปิ้ล และส้ม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าดัชนีน้ำตาลหรือ Glycemic Index เป็นค่าที่ใช้ระบุถึงความเร็วของอาหารแต่ละชนิดที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นหลังจากรับประทาน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ต่ำ กลาง และสูง
หากค่าดัชนีน้ำตาลที่สูงจะหมายความว่า อาหารชนิดนั้นจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังรับประทานได้ไว โดยอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า ขนมขบเคี้ยว หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อีกทั้งยังมีงานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้
วิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
การเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ควรเลือกอาหารที่มีสารพิวรีนต่ำ เช่น นมสูตรไขมันต่ำ เชอร์รี่ เนยถั่ว ไข่ รวมถึงผักชนิดต่าง ๆ เช่น ผักคะน้า ผักโขม ถั่วงอก และดอกกะหล่ำ อย่างไรก็ตาม กลไกการตอบสนองต่ออาหารของร่างกายในแต่ละคนจะทำงานแตกต่างกัน แม้การรับประทานอาหารบางชนิดที่ไม่ใช่อาหารที่ให้สารพิวรีนสูงก็อาจส่งผลให้บางคนมีอาการปวดข้อจากโรคเก๊าท์ได้เช่นกัน
นอกจากปัจจัยในด้านการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแล้ว ภาวะอ้วนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคเก๊าท์ได้เช่นกัน เนื่องจากภาวะอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตกรดยูริกออกมามากขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการกำจัดกรดยูริกของไตอีกด้วย
รวมถึงผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหมั่นออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนักด้วยเช่นกัน ในเบื้องต้นควรเลือกกีฬาหรือกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไปเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพข้อต่อในร่างกาย เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ
ทั้งนี้ การควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม หรือการออกกำลังกายในข้างต้นเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมและบรรเทาอาการจากโรคเก๊าท์ด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนการรักษาได้ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรเข้ารับการดูแลจากแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำอื่น ๆ ของแพทย์ผู้รักษาร่วมด้วย