สาเหตุของเปลือกตาบวมและวิธีดูแลตัวเอง

เปลือกตาบวมเกิดจากการสะสมของของเหลวบริเวณเนื้อเยื่อรอบดวงตา ซึ่งทำให้เกิดอาการบวม เจ็บ และคัน เปลือกตาบวมเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ เปลือกตาอักเสบ การติดเชื้อบริเวณดวงตา หรือแม้กระทั่งโรคผิวหนังบริเวณรอบดวงตา

เปลือกตาบวมสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง อาการโดยส่วนมากมักไม่รุนแรงและดีขึ้นได้เองภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางครั้งอาการบวมที่เปลือกตาอาจรุนแรงและไม่หายไป จึงควรสังเกตอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา

เปลือกตาบวมเกิดจากอะไร และวิธีดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ

เปลือกตาบวมเกิดจากอะไร

เปลือกตาบวมมักเกิดจากโรคและอาการต่าง ๆ โดยโรคหรือภาวะที่มักพบเปลือกตาบวมบ่อย ๆ ได้แก่

ตาแดง

ตาแดงเป็นอาการที่เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง เกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดใต้เยื่อบุตา จึงทำให้มีอาการตาแดง และอาจเกิดอาการเคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล และอาจมีขี้ตาร่วมด้วย ตาแดงเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

  • ตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส (Viral Conjunctivitis) มักเกิดจากการติดเชื้ออะดีโนไวรัส (Adenoviruses) เป็นชนิดที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือสัมผัสถูกข้าวของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะเกิดอาการภายใน 1–2 วัน 
  • ตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Conjunctivitis) เป็นประเภทที่ติดต่อไปยังผู้อื่นได้เช่นเดียวกับตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนมากพบในเด็ก ผู้ที่เป็นมักมีอาการเคืองตา เจ็บตา มีขี้ตามากและเหนียวข้น 
  • ตาแดงจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) หรือภูมิแพ้ขึ้นตา เกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรพืช ฝุ่น เชื้อรา เครื่องสำอาง และยาบางชนิด ทำให้เกิดอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล และตาบวม โดยอาการอาจเกิดขึ้นตามฤดูกาลหรือเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของแต่ละคนที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้

เปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) เป็นการอักเสบที่เปลือกตา มักเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณโคนขนตา ความผิดปกติของต่อมไขมัน การติดเชื้อ ตาแห้ง โรคภูมิแพ้ และโรคผิวหนัง เช่น เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) และโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โดยมักเกิดการอักเสบที่ดวงตาพร้อมกันทั้งสองข้าง 

อาการของเปลือกตาอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ คัน แสบ และเจ็บที่เปลือกตา มีสะเก็ดขี้ตาติดที่เปลือกตา ซึ่งจะมีมากที่สุดในตอนเช้าหลังตื่นนอน บางครั้งอาจมีน้ำตาไหล ตามัว และรู้สึกเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา

ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเป็นการอักเสบติดเชื้อบริเวณโคนขนตาหรือใต้เปลือกตา ผู้ที่เป็นตากุ้งยิงจะมีตุ่มนูนแดง รู้สึกเจ็บปวด คัน เปลือกตาบวมแดง และอาจมีหนองอยู่ด้านใน โดยสาเหตุหลักของตากุ้งยิงคือการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมไขมันบริเวณดวงตา ซึ่งอาการมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

คาลาเซียน

คาลาเซียน (Chalazion) คือการเกิดตุ่มนูนเล็ก ๆ บริเวณเปลือกตาจากการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาการเดียวกับตากุ้งยิง แต่คาลาเซียนมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด โดยทั่วไปอาการมักหายไปได้เอง แต่บางครั้งอาจมีอาการบวมแดงที่เปลือกตา กดแล้วรู้สึกเจ็บเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้นานตุ่มนูนอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกดทับบริเวณดวงตา และบดบังการมองเห็นได้ 

การติดเชื้อที่ผิวหนัง

ในบางกรณี เปลือกตาบวมอาจไม่ได้เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่ดวงตา แต่อาจเกิดจากโรคผิวหนัง อย่างเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) แผลพุพอง (Impetigo) และโรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถแพร่กระจายไปยังเปลือกตาและบริเวณอื่น ๆ ของใบหน้าได้ จึงอาจมีอาการบวมแดง คัน และเจ็บตา

หากมีบาดแผลจากการบาดเจ็บและการถูกแมลงกัด หรือมีโรคผิวหนังอื่น ๆ ใกล้กับดวงตา เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) และโรคงูสวัด (Shingles) อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณดวงตาได้ง่าย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลเหล่านี้

นอกจากนี้ เปลือกตาบวมอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การร้องไห้ ผิวไหม้แดด การได้รับบาดเจ็บ อาการบวมน้ำ (Edema) จากการรับประทานยาบางชนิด และโรคประจำตัวอย่าง หัวใจล้มเหลว ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) โรคเกรฟส์ (Graves' Disease) และมะเร็งตา แต่พบได้น้อยมาก

เปลือกตาบวมรักษาได้อย่างไร

โดยทั่วไป เปลือกตาบวมมักมีอาการไม่รุนแรงและอาจดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตนเอง ซึ่งอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างหน้าและทำความสะอาดดวงตาด้วยน้ำสะอาด เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและสารก่อภูมิแพ้ที่หลงเหลืออยู่บริเวณผิวหนังรอบดวงตาและโคนขนตา โดยผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาควรลองใช้น้ำเย็นทำความสะอาด จะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ดี
  • ประคบดวงตา หากมีอาการเปลือกตาอักเสบ ตากุ้งยิง และคาลาเซียนควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบดวงตา เพื่อลดอาการบวมแดงที่เปลือกตา ส่วนผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาอาจประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นหรือถุงชา เพื่อลดอาการคันบวม 
  • งดแต่งหน้าบริเวณดวงตา และงดสวมคอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายดี
  • ใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม หากมีอาการตาแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น หากต้องออกไปนอกบ้าน ควรสวมแว่นตาป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา และทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะห้องนอนเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่น
  • หมั่นทำความสะอาดหมอน ผ้าเช็ดตัว และผ้าเช็ดหน้า รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เครื่องสำอาง ยาหยอดตา และผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

หากดูแลตัวเองด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม หากมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณดวงตา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหยอดตา ขี้ผึ้ง หรือยาชนิดรับประทานเพื่อรักษาอาการ และในบางกรณีอาจให้ยาสเตียรอยด์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

เปลือกตาบวมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนมากมักดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม หากเปลือกตาบวมและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บตา ตามัว มองเห็นจุดเล็ก ๆ ลอยผ่านไปมา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ปวดตา และไม่สามารถกลอกตาได้ ควรไปพบแพทย์ทันที