เมลาโทนิน: ฮอร์โมนเพื่อการนอนหลับ

เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง มีบทบาทช่วยควบคุมการนอนหลับของคน ช่วยให้คนเรามีการนอนหลับที่ดี ซึ่งหากฮอร์โมนดังกล่าวลดลงก็จะนำมาสู่ปัญหาในการนอนหลับได้

เมลาโทนิน

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณกลางสมอง มีขนาดเท่าเมล็ดเท่าถั่ว ทั้งนี้กลไกในการทำงานของต่อมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่าง และอุณหภูมิ จึงทำให้ในเวลากลางวันต่อมไพเนียลจะไม่มีการทำงาน แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ต่อมนี้จะเริ่มทำงาน และหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินเข้าในกระแสเลือดทำให้คนเรารู้สึกง่วง โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะคงอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณ 10-60 พิโคกรัมต่อมิลลิตร (pg/mL) ติดต่อกันประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนที่ระดับฮอร์โมนเหล่านี้จะลดปริมาณลงตอนเช้าในที่สุด

ทำไมเมลาโทนินจึงสำคัญ ?

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในร่างกาย เพราะเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง ทำให้คนเราสามารถนอนหลับได้ โดยในเวลากลางคืน ฮอร์โมนดังกล่าวจะมีอยู่ในร่างกายสูง ซึ่งจะส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าเป็นเวลาพักผ่อน ทั้งนี้ในสัตว์ เมลาโทนินมีส่วนสำคัญในการควบคุมระบบชีวภาพของร่างกายในแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูสืบพันธุ์ การงอกหรือยาวขึ้นของขนสัตว์ในช่วงฤดูหนาว ของสัตว์ที่อยู่ในแถบอากาศหนาวเย็น หรือแม้แต่การจำศีล เป็นต้น

ส่วนในมนุษย์นั้นยังไม่มีการพบว่าฮอร์โมนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสืบพันธุ์ หรือการปรับตัวในแต่ละฤดู แต่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนอนหลับ และการทำงานของนาฬิกาชีวิตซึ่งเป็นระบบการทำงานสำคัญของร่างกาย ซึ่งหากฮอร์โมนดังกล่าวมีอยู่ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ สภาพแวดล้อม หรือต่อมไพเนียลทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับได้ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าคนเราจะต้องมีระดับฮอร์โมนนี้สูงแต่อย่างใด หากอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็สามารถช่วยในการนอนหลับได้

ประโยชน์ของเมลาโทนิน

เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง จึงทำให้ประโยชน์ของฮอร์โมนนี้เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันฮอร์โมนดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นภายนอกร่างกายด้วยวิธีการสังเคราะห์ และนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม หรือยาที่ใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการนอนหลับได้ แต่ก็ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยประโยชน์ของเมลาโทนินที่เห็นได้ชัด มีดังนี้

  • บรรเทาอาการเจ็ทแลค อาการนี้เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถรับตัวกับการเปลี่ยนของเขตเวลา โดยมักเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งจะก่อให้เกดอาการเช่น นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน อาหารไม่ย่อย หรือรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งการใช้เมลาโทนินนั้น มีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้
  • รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome) เป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับ ที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลา 2.00 น. และมักมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า โดยการใช้อาหารเสริมที่มีฮอร์โมนดังกล่าวร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม สามารถรักษาความผิดปกติดังกล่าว และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • รักษาโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) โรคนอนไม่หลับเป็นความผิดปกติในการนอนหลับที่พบได้บ่อย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ แต่มีการศึกษาว่า การใช้เมลาโทนินในการรักษาปัญหาอาการนอนหลับสามารถช่วยให้นอนหลับได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพในการนอนหลับ และระยะเวลาในการนอนหลับที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาในการนอนหลับเนื่องมาจากวัยที่สูงขึ้น การใช้เมลาโทนินก็สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีมากขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ผู้ป่วยในวัยเด็กซึ่งมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือเด็กที่มีกลุ่มอาการออทิสติก การใช้เมลาโทนินก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็พบว่าอาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน จึงต้องมีการทำการศึกษาต่อไป

  • ช่วยในการรักษาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ มีการพบว่าการใช้เมลาโทนินอาจช่วยรักษาอาการต่างเกิดจากโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความดันโลหิตสูง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์เหล่านี้ในปริมาณที่น้อย ซึ่งยังต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อยืนยันผลเหล่านี้

ความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการใช้เมลาโทนิน

แม้ว่าเมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกาย แต่การใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการได้รับฮอร์โมนนี้ติดต่อกันในระยะยาว ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะให้ใช้ฮอร์โมนดังกล่าวในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น

  • อาการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาการมวนท้อง
  • วิตกกังวล
  • หงุดหงิด
  • อาการมึนงง
  • ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น

ทั้งนี้มีการศึกษาหนึ่งเผยว่า การใช้ยาเมลาโทนินอาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ ดังนั้นควรใช้อย่างระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์ในปริมาณที่กำหนด คือไม่เกินปริมาณ 1-5 มิลลิกรัมต่อวัน และควรหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมเมลาโทนินที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา

ใครไม่ควรใช้เมลาโทนิน

เมลาโทนินชนิดสังเคราะที่อยู่ในอาหารเสริมนั้น อาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์ได้ จึงทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ อันได้แก่ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases) หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง เนื่องจากเมลาโทนินจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และไปขัดขวางการทำงานของยาที่ใช้กดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคดังกล่าว นอกจากนี้การใช้เมลาโทนินในสตรีมีครรภ์อาจทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้นสตรีมีครรภ์ หรือวางแผนการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยต้องการใช้เมลาโทนินเป็นอาหารเสริมเพื่อรักษาปัญหาการนอนหลับ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะแพทย์อาจแนะนำวิธีอื่น ๆ ซึ่งปลอดภัยกว่า และหากผู้ป่วยใช้ยาอื่น ๆเช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคเบาหวาน หรือยาคุมกำเนิด เมลาโทนินอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ยาเหล่านั้นได้ หรือหากต้องใช้ยาดังกล่าว แพทย์ก็จะแนะนำปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้แก้ผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยได้