เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกับความเครียดกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เกิดจากปัญหาเรื่องงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบกระเทือนจิตใจและร่างกาย ซึ่งความเครียดที่มากเกินไปหรือความเครียดเรื้อรังนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม จนอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้มากมาย
บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับความเครียด ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อเกิดความเครียด และสัญญาณผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์
ความเครียดส่งผลต่อร่างกายของเราอย่างไร
เมื่อร่างกายต้องเผชิญกับสภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด กลไกปกติของร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิด อย่างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมาในกระแสเลือด เพื่อช่วยให้ร่างกายตื่นตัวและรับมือกับเหตุการณ์ที่มากระทบกระเทือนร่างกายและจิตใจได้ดีขึ้น
ในระยะสั้น ความเครียดอาจเพียงแค่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายใจ ไม่มีสมาธิ หรืออาการผิดปกติบางอย่างเท่านั้น แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานหรือความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่านั้น เช่น ทำให้รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ สิวขึ้น ผมร่วง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น และอาจทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติไป เช่น
1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
เมื่อเกิดความเครียด กล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัว หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดที่สูบฉีดเลือดไปยังหัวใจและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในร่างกายจะขยายตัวขึ้น นอกจากนั้น ความเครียดยังกระตุ้นให้ความดันโลหิตในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ และน้ำตาลในเลือด
หากกลไกข้างต้นเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและภาวะผิดปกติทางหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคอ้วน
2. ระบบทางเดินอาหาร
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารในหลาย ๆ ด้าน เช่น
- ประสิทธิภาพของกลไกการป้องกันแบคทีเรียในลำไส้ ระบบย่อยอาหาร และกระบวนการดูดซึมสารอาหารของลำไส้ลดลง
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
- ความต้องการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
- การลำเลียงและการย่อยอาหารในร่างกายช้าลง
- กระเพาะอาหารผลิตกรดมากขึ้น
- การทำงานของเซลล์ประสาทและแบคทีเรียในลำไส้ถูกรบกวน
แต่หากเกิดความเครียดเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ ทั้งกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคลำไส้อักเสบ รวมไปถึงการเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรืออาเจียน
3. ระบบต่อมไร้ท่อ
สมองจะกระตุ้นให้ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) ออกมามากขึ้นเมื่อเกิดความเครียดเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกาย
แต่หากร่างกายเผชิญกับความเครียดเรื้อรัง กลไกการทำงานระหว่างการผลิตฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อและภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานผิดปกติจนอาจนำไปสู่โรคได้มากมาย เช่น
- อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคทางภูมิคุ้มกัน
4. ระบบประสาท
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น โดยระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดบริเวณแขนและขาขยายตัว และระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว ซึ่งกลไกดังกล่าวจะกลับสู่ภาวะปกติได้เองหลังจากที่ร่างกายหยุดเผชิญกับความเครียด
อย่างไรก็ตาม หากร่างกายเกิดกลไกนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจากความเครียดเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและการตัดสินใจ
5. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
เมื่อเกิดความเครียด กล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายจะเกิดอาการตึงและเกร็ง ในกรณีที่มีความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานานอาจนำไปสู่โรคหรือภาวะผิดปกติมากมาย เช่น อาการปวดหัวจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหรือปวดหัวจากความเครียด (Tension-Type Headaches) อาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหลัง และอาการปวดบริเวณไหล่ บ่า แขนและขา
6. ระบบการหายใจ
ความเครียดอาจส่งผลให้ทางเดินหายใจบริเวณระหว่างจมูกและปอดหดเกร็งตัว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการหายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หายใจถี่ รวมถึงยังอาจทำให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจมีอาการแย่ลงอีกด้วย โดยเฉพาะโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
7. ระบบสืบพันธุ์
ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยผลกระทบที่อาจพบได้ในเพศชาย เช่น
- มีฮอร์โมนเพศชายลดลง ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง หรือในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย หรือนกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) ได้
- มีลูกยาก เนื่องจากความเครียดเรื้อรังอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและการเจริญเติบโตของอสุจิ รวมถึงยังมีงานวิจัยที่พบว่าความเครียดอาจส่งผลให้ทั้งรูปร่าง ขนาด และความสามารถในการเคลื่อนตัวของอสุจิมีประสิทธิภาพลดลง
- อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันลดลง
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) หรือภาวะที่ส่งผลให้ผู้ป่วยหลั่งน้ำอสุจิขณะมีกิจกรรมทางเพศเร็วผิดปกติ
ส่วนในกรณีเพศหญิง ผลกระทบที่อาจพบได้ เช่น
- ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ หรือรู้สึกปวดท้องในช่วงมีประจำเดือนมากผิดปกติ
- ความต้องการทางเพศลดลง
- โอกาสในการตั้งครรภ์ลดน้อยลง หรือในกรณีผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคตได้ นอกจากนี้ ความเครียดยังอาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เกิดโรคทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้
ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างปัญหาสุขภาพด้านร่างกายในข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดแล้ว ความเครียดยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านจิตใจอีกด้วย โดยอาจทำให้หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย กระสับกระส่าย ขาดแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ หรือซึมเศร้า
ผู้ที่เกิดความเครียดอยู่บ่อย ๆ ควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือวิธีรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่เครียดจนเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตนเองและผู้อื่น หรือสังเกตว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ นอนมากผิดปกติ ปวดตามร่างกาย ท้องอืด ปวดท้อง ความต้องการทางเพศลดลง หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง