เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยาแก้แพ้ เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย

วิธีใช้ยาแก้แพ้อย่างปลอดภัยเป็นสิ่งที่คนเป็นโรคภูมิแพ้หรือภาวะอื่นที่ต้องใช้ยาชนิดนี้เป็นประจำควรรู้ แม้ว่ายาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย แต่การศึกษาวิธีใช้ยาแก้แพ้อย่างปลอดภัยจะช่วยรับมือกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย

ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งของสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม อย่างสารก่อภูมิแพ้ สารเคมี เชื้อโรค และพิษจากแมลง จึงทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา เช่น ผื่นแดงคันตามผิวหนัง คันตา คัดจมูก และน้ำมูกไหล เป็นต้น สำหรับใครที่มีอาการภูมิแพ้เรื้อรังควรศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลของยาแก้แพ้ เพื่อให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยาแก้แพ้ เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย

เรื่องน่ารู้ของยาแก้แพ้และวิธีใช้ยาแก้แพ้อย่างปลอดภัย 

ยาแก้แพ้เป็นตัวช่วยบรรเทาอาการแพ้ที่รบกวนการใช้ชีวิต การทำความเข้าใจถึงยาแก้แพ้ในเรื่องต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณใช้ยาแก้แพ้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. ยาแก้แพ้มี 2 ชนิด

ยาแก้แพ้สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

ยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (Conventional Antihistamines)

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ผ่านทางสมอง ระบบประสาท และไขสันหลัง จึงมักทำให้เกิดอาการง่วงซึม อีกทั้งยังอาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปากแห้ง ตาพร่า และปัสสาวะขัด

ตัวอย่างยาแก้แพ้กลุ่มนี้ ได้แก่ ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) ยาคีโตติเฟน (Ketotifen) ยาออกซาโทไมด์ (Oxatomide) และโปรเมทาซีน (Promethazine) 

ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วง (Non-Drowsy Antihistamines)

ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ออกฤทธิ์ผ่านสมองน้อยกว่ากลุ่มแรกจึงทำให้ไม่ง่วง แต่ก็อาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว ปากแห้ง หรือรู้สึกไม่สบายได้

ตัวอย่างยาแก้แพ้กลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) และยาลอราทาดีน (Loratadine) 

2. ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วงก็อาจทำให้ง่วงได้

แม้จะชื่อว่ายาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วง แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึมได้เช่นกัน เพราะยาแก้แพ้ชนิดนี้ยังคงออกฤทธิ์ภายในสมองและระบบประสาท เพียงแต่ออกฤทธิ์น้อยลงเท่านั้น คนบางส่วนที่ใช้ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ก็อาจพบอาการง่วงซึมได้

ด้วยเหตุนี้การใช้ยาแก้แพ้ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็อาจมีความเสี่ยงเกิดอาการง่วงซึมหรือการตอบสนองช้าลงได้ ดังนั้นหากเพิ่งใช้ยาแก้แพ้เป็นครั้งแรกหรือรู้สึกว่าตนเองมักง่วงซึมจากการใช้ยาแก้แพ้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น การทำงานกับเครื่องจักร การทำงานบนท้องถนน และการทำงานบนที่สูง เป็นต้น

3. ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่า

ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วงเป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากยาแก้แพ้กลุ่มแรก ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ชี้ว่านอกจากยาแก้แพ้กลุ่มนี้จะทำให้ง่วงน้อยลงแล้ว อัตราการเกิดผลข้างเคียง อย่างปากแห้ง โพรงจมูกแห้ง และอาการตาพร่าก็ยังน้อยกว่ายาแก้แพ้กลุ่มแรกด้วย

4. ยาแก้แพ้กลุ่มแรกอาจใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นได้

แม้ว่าในภาพรวมของคนทั่วไป ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วงจะดูเป็นอันตรายน้อยกว่ายาแก้แพ้กลุ่มแรก แต่ในความเป็นจริง ยาแก้แพ้กลุ่มแรกก็มีสรรพคุณบางอย่างที่เหนือกว่ายาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วง ซึ่งก็คือการบรรเทาอาการน้ำมูกไหลที่ดีกว่า อีกทั้งยาแก้แพ้กลุ่มแรกอาจใช้เพื่อบรรเทาอาการเมารถและอาการนอนไม่หลับได้ด้วย

5. ข้อจำกัดของยาแก้แพ้

แม้ว่ายาแก้แพ้ส่วนใหญ่มีความปลอดภัยเมื่อใช้ในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป แต่คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้แพ้ได้สูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นหากคุณเป็นคนในกลุ่มต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยา

  • กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคตับ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต โรคต้อหิน และโรคลมชัก
  • อยู่ในระหว่างการรักษาตัวด้วยยาชนิดอื่น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ
  • หาซื้อยาแก้แพ้เพื่อใช้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

6. ยาแก้แพ้แต่ชนิดมีระยะเวลาออกฤทธิ์ต่างกัน

ยาแก้แพ้แต่ละชนิดและแต่ละยี่ห้ออาจมีตัวยาและปริมาณยาที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาการออกฤทธิ์ โดยส่วนใหญ่ระยะการออกฤทธิ์จะอยู่ระหว่าง 12–24 ชั่วโมงตามชนิดและปริมาณยา หากเริ่มใช้เป็นครั้งแรกหรือต้องการเปลี่ยนชนิดของตัวยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ

7. ยาแก้แพ้สามารถใช้ได้ทุกวัน

โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้อากาศและภูมิแพ้ผิวหนังมักมีอาการเรื้อรัง คนที่เป็นโรคเหล่านี้จึงมักกังวลว่าการใช้ยาแก้แพ้บ่อยเกินไปอาจส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบัน คนที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถใช้ยาแก้แพ้เพื่อควบคุมอาการได้ทุกวันโดยไม่เกิดอันตราย

แต่เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการว่ามาจากโรคภูมิแพ้จริงหรือไม่ รวมถึงใช้ยาแก้แพ้ตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร และฉลากยาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หากช่วงไหนป่วยด้วยโรคอื่นหรือต้องใช้ยาอื่นเพื่อรักษาอาการ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ

8. ยาแก้แพ้อาจใช้ป้องกันอาการแพ้ได้

ยาแก้แพ้ไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการแพ้หลังจากเกิดอาการแล้วเท่านั้น แต่อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดอาการได้ด้วย ดังนั้นหากรู้ว่าสารชนิดใดที่ทำให้เกิดอาการแพ้และรู้ว่าจะต้องเสี่ยงสัมผัสกับสารนั้น ควรใช้ยาแก้แพ้ก่อนสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

โดยการใช้ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วง อย่างยาคีโตติเฟนและยาออกซาโทไมด์ติดต่อกันเป็นเวลา 2–3 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาการแพ้

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ในการป้องกันอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของการแพ้ด้วย สำหรับคนที่แพ้อาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แพ้โดยเด็ดขาด แม้จะรับประทานยาแก้แพ้ไปแล้วก็ตาม เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้

9. ยาแก้แพ้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่ยารักษา

โรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อากาศ โรคหืด โรคผิวหนังอักเสบ ลมพิษ และอาการแพ้อาหารเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพันธุกรรมภายในร่างกายผิดปกติจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยาแก้แพ้เป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งที่ใช้บรรเทาและควบคุมอาการชั่วคราวเท่านั้น โดยวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ให้ได้มากที่สุด

10. ยาแก้แพ้ไม่สามารถใช้รักษาโรคหวัดได้

แม้ว่าโรคไข้หวัดและโรคภูมิแพ้มักมีอาการระบบทางเดินหายใจที่คล้ายกัน เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายคอ และไอ แต่ยารักษาโรคหวัดและยาแก้แพ้ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากทั้งสองโรคมีสาเหตุที่แตกต่างกัน

ยาแก้แพ้เพียงบางชนิดเท่านั้นที่พอช่วยบรรเทาอาการบางอย่างจากโรคหวัดได้ อย่างบรอมเฟนิรามีน คลอเฟนิรามีน อย่างไรก็ตามหากอาการหวัดไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

11. ยาแก้แพ้มีหลายรูปแบบ

เมื่อพูดถึงยาแก้แพ้หลายคนอาจนึกถึงยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน แต่ยาแก้แพ้ยังมีรูปแบบอื่น ๆ นอกจากยาเม็ดหรือยาน้ำด้วย เช่น ครีม โลชั่น เจล ยาหยอดตา และยาพ่นจมูก ซึ่งอาจเลือกใช้ได้ตามความเหมาะและอาการที่พบ นอกจากนี้ ยาแก้แพ้ในรูปแบบอื่นอาจมีตัวยา การออกฤทธิ์ วิธีการใช้ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปจากยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้

ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานสามารถใช้เพื่อรักษาอาการของโรคภูมิแพ้ในระดับไม่รุนแรงจนถึงความรุนแรงปานกลางเท่านั้น หากรู้ว่าตนเองมีอาการแพ้ต่อสารใดรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงสารชนิดนั้น

หากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และพบอาการลมพิษรุนแรง คันคอ หน้าบวม ปากบวม คอบวม หายใจไม่ออก อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ควรไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง หรือแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งอาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากพบอาการในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากรับประทานอาหารหรือสัมผัสกับสารที่ไม่คุ้นเคยก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน