เทศกาลบอลโลกกลับมาอีกครั้ง แฟนบอลหลายคนคงมีทีมที่คอยลุ้นเชียร์อยู่ในใจ และบางคนก็ไม่อยากพลาดการแข่งขันนัดสำคัญถึงขั้นอดหลับอดนอนคอยดูบอลดึกดื่นติดหน้าจอกันเลยทีเดียว แต่รู้ไหมว่า การอดนอนนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ อีกทั้งอาจทำให้หน้าตาหมองคล้ำ ความจำไม่ดี ระบบเผาผลาญไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ด้วย !!
ผลเสียของการอดนอนมีอะไรบ้าง ?
โดยปกติคนเราควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ฟื้นฟูและพร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในวันรุ่งขึ้น แต่ร่างกายของบางคนก็อาจต้องการนอนพักผ่อนมากกว่าหรือน้อยกว่า 8 ชั่วโมง โดยหากสังเกตว่าไม่ได้รู้สึกง่วงระหว่างวันก็อาจแสดงว่านอนเพียงพอแล้ว ในทางกลันกัน ถ้ารู้สึกง่วงนอนระหว่างเรียนหรือทำงาน อาจเป็นสัญญาณของการอดนอน ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ดังนี้
ผิวหย่อนคล้อย นอกจากการนอนไม่พอจะทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดรอยเหี่ยวย่น และมีรอยคล้ำใต้ตาแล้ว การอดนอนเป็นประจำยังไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งระดับคอร์ติซอลที่มากเกินไปจะทำลายคอลลาเจนอันเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวยืดหยุ่นและนุ่มลื่น
ความจำไม่ดี ระหว่างนอนหลับ สมองของคนเราจะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Sharp Wave Ripples ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดคลื่นไฟฟ้ารูปแบบจำเพาะที่ช่วยจัดเก็บความทรงจำและแปรข้อมูลใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้ให้เป็นความทรงจำระยะยาว การอดนอนจะทำให้กระบวนการดังกล่าวทำงานได้ไม่เต็มที่ และส่งผลเสียต่อความสามารถในการจดจำด้วย
สมาธิสั้น ผู้ที่อดนอนเป็นประจำมักไม่สามารถใส่ใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน อีกทั้งอาจมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ และการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลลดลงไปด้วย
อารมณ์แปรปรวน การอดนอนส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวนและฉุนเฉียวง่าย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงและกระตุ้นให้เกิดโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าอีกด้วย
น้ำหนักเพิ่มขึ้น การอดนอนนั้นส่งผลกระทบต่อระดับสารเกรลินหรือสารเคมีในสมองที่กระตุ้นให้รู้สึกหิว และสารเลปทินหรือสารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม โดยจะไปเพิ่มระดับสารเกรลินให้สูงขึ้น และลดระดับสารเลปทินให้ต่ำลง ผู้ที่อดนอนจึงมีแนวโน้มรู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและการเกิดโรคอ้วนตามมา
ความต้องการทางเพศลดลง ผู้ที่อดนอนเป็นประจำมักรู้สึกหมดแรง เฉื่อยชา และเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการทางเพศลดลง นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยพบว่าผู้ชายที่นอนหลับไม่เพียงพออาจมีระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ด้วยเช่นกัน
ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การอดนอนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งภูมิคุ้มกันมีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอจึงมีแนวโน้มเป็นหวัดหรือไข้ง่ายกว่าปกติ
โรคเบาหวาน โดยปกติฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการอดนอนเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอินซูลินในร่างกาย และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดโรคเบาหวานได้
ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพออาจเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ความสามารถในการทรงตัวลดลง ผู้ที่นอนไม่เพียงพออาจมีปัญหาในการทรงตัวและการทำงานร่วมกันของอวัยวะต่าง ๆ จึงเสี่ยงต่อการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุ ผู้ที่อดนอนมักรู้สึกเซื่องซึม วิงเวียนศีรษะ และไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็กน้อยไปจนถึงเหตุการณ์ที่ร้ายแรงอย่างอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะผู้ขับขี่ยานพาหนะหลับใน จนอาจส่งผลให้ทั้งตนเองและผู้อื่นบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต
นอนไม่พอควรทำอย่างไร ?
วิธีรับมือกับการอดนอนที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับชดเชยช่วงเวลาในการนอนที่สูญเสียไป โดยให้นอนหลับทันทีที่รู้สึกเหนื่อยหรือง่วง และตื่นตามธรรมชาติโดยไม่ใช้นาฬิกาปลุก ในช่วงแรกอาจใช้เวลานอนหลับนานถึง 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว และใช้เวลาในการนอนลดลงจนเข้าสู่ระยะเวลาปกติ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลังด้วย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับได้