แมลงเข้าหู อาการที่ควรสังเกตและวิธีรับมือ

การมีแมลงเข้าหูเป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินทางหูที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจเกิดจากการมีแมลงต่าง ๆ บินหรือคลานเข้าไปในหูระหว่างการนอนหลับ และการทำกิจกรรมขณะไปพักผ่อนในป่าหรือสนามกลางแจ้ง แมลงเข้าหูอาจสร้างความระคายเคืองหรือทำให้รู้สึกปวดในหูได้

แมลงเข้าหูอาจเป็นแมลงหวี่ มด เห็บ หมัด เต่าทอง หรือแมลงอื่น ๆ บางครั้งแมลงอาจออกมาจากรูหูเองหรือตายอยู่ในรูหู แต่แมลงบางชนิดก็อาจเติบโตและทำรังอยู่ภายในหูได้ นอกจากนี้ หากแมลงที่เข้าหูมีขนาดใหญ่ อาจติดคาอยู่ภายในหูและทำให้รูหูชั้นนอกและแก้วหูได้รับบาดเจ็บได้ หากมีแมลงเข้าหูจึงไม่ควรปล่อยไว้ และควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

Bug in Ear

สังเกตอาการเมื่อแมลงเข้าหู

ช่องหูของคนเรานั้นมีลักษณะเป็นโพรงกระดูกแข็งบาง ๆ และผิวหนังบริเวณนี้ยังไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เมื่อมีวัตถุใด ๆ ไปกดทับจึงทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีแมลงเข้าหู ได้แก่

  • รูหูบวมแดง มีอาการอักเสบ รู้สึกเจ็บหู
  • รู้สึกคัน ระคายเคือง หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในหู
  • ได้ยินเสียงหึ่ง ๆ หรือเสียงขูดขีดอยู่ภายในหูจากการที่แมลงเคลื่อนไหวอยู่ในรูหู
  • มีของเหลว เช่น เลือดหรือหนองไหลออกมา
  • เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการได้ชัดเจน อาจมีอาการจับ ถู หรือแกะเกาหูบ่อยผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการมีขี้หูอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะที่จะทำให้มีอาการปวดหูหรือได้ยินเสียงดังภายในหูได้เช่นกัน 

แต่สำหรับอาการหูอื้อจะสังเกตอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไปได้ คือ รู้สึกแน่นหรืออื้อ ๆ ในหู หรือการได้ยินเสียงในหูข้างดังกล่าวลดลง รวมถึงอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเดินไม่ตรงในรายที่อาการรุนแรง เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการอักเสบของหูหรือแรงดันในเยื่อแก้วหูที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่หูชั้นกลาง

วิธีรับมือเมื่อแมลงเข้าหู

เมื่อมีแมลงเข้าหู ไม่ควรปล่อยไว้เฉย ๆ และรอให้แมลงออกมาเอง เพราะบางครั้งแมลงที่เข้าหูอาจเป็นแมลงมีพิษหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในหูได้ 

สำหรับการนำเอาแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากหูของเด็กเล็ก ควรพูดปลอบอย่างนุ่มนวลให้เด็กอยู่ในภาวะสงบและไม่ตกใจกลัว และหากวัตถุนั้นไม่ทำให้มีอาการใด ๆ ไม่จำเป็นต้องรีบเอาออกทันที หากเด็กยังอยู่ไม่นิ่งหรืออารมณ์ไม่ดี ควรรอจนกว่าจะสงบลงจึงค่อยพยายามเขี่ยวัตถุออก โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

1. ใช้ไฟฉายส่องที่รูหู

ตะแคงศีรษะให้หูข้างที่มีแมลงเข้าไปตั้งขึ้น  เพื่อให้แสงส่องเข้าไปภายในหู แมลงที่ชอบแสงจะคลานหรือบินตามแสงออกมา พร้อมสะบัดศีรษะเบา ๆ เพื่อช่วยให้แมลงหลุดออกมา ไม่ควรตบศีรษะหรือหู เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้

2. หยดน้ำมันในรูหู

หากใช้ไฟฉายส่องรูหูแล้วไม่ได้ผล ควรใช้วิธีนอนตะแคงให้ช่องหูข้างที่มีแมลงเข้าไปตั้งขึ้น จากนั้นลองใช้น้ำมันพืช หรือเบบี้ออยล์เทลงไปในหู การทำเช่นนี้จะช่วยให้แมลงหายใจไม่ออกและอาจบินหรือคลานหนีน้ำมันออกมาเองได้

สำหรับผู้ใหญ่ให้ดึงใบหูให้ไปด้านหลังและดึงขึ้นเบา ๆ ระหว่างเทน้ำมัน แต่หากเป็นเด็กให้ดึงใบหูไปทางด้านหลังและดึงลง พร้อมสะบัดศีรษะเบา ๆ เพื่อช่วยให้แมลงหลุดออกมาจากรูหูง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยมีอาการที่คาดว่าจะเกิดจากแก้วหูทะลุ เช่น รู้สึกปวด มีเลือดหรือหนองไหลออกจากหู ไม่ควรใช้วิธีหยดน้ำมันในรูหู

3. ไม่ใช้นิ้วหรือวัตถุใด ๆ ใส่เข้าไปในรูหู

ห้ามใช้นิ้วแหย่เข้าในในหู เพราะอาจถูกแมลงต่อยได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุอื่น ๆ เช่น คอตตอนบัด หรือแหนบสอดเข้าไปในรูหู เพราะอาจดันให้แมลงเข้าไปในช่องหูลึกขึ้น หลุดออกจากรูหูยาก และอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่แก้วหู

รวมถึงไม่ควรหยดน้ำหรือน้ำมันลงในรูหู กรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมไม่ใช่แมลงออกจากใบหู เพราะน้ำและน้ำมันอาจทำให้วัตถุบางชนิดขยายขนาดหรือบวมขึ้นภายในหูได้

สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อาการหรือภาวะต่อไปนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ที่แมลงเข้าหูควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

  • เริ่มมีอาการเจ็บหรือรู้สึกปวดในหูมากขึ้น
  • ไม่สามารถนำเอาแมลงหรือวัตถุแปลกปลอมออกจากหูได้
  • ได้ยินเสียงผิดปกติในหู
  • มีอาการแดงหรือบวมบริเวณหู โพรงหู หรือผิวหนังรอบ ๆ ใบหู
  • มีของเหลว เช่น หนองและเลือดออกจากหู
  • อาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงหรือเกิดบ่อยครั้งขึ้น
  • มีอาการอื่น ๆ ปรากฏเพิ่มเติม เช่น การได้ยินเสียงลดลง หรือเวียนศีรษะ

ทั้งนี้ แม้จะนำแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมออกมาจากหูได้แล้ว แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพราะชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของแมลงที่ยังคงติดอยู่ภายในหูอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณโพรงหูที่บอบบางและระคายเคืองง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หลังจากแพทย์นำเอาวัตถุที่ติดอยู่หรือเหลือค้างออกมาแล้ว แพทย์อาจตรวจช่องหูอักครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการบาดเจ็บในช่องหูจากแมลงเข้าหู โดยผู้ที่แมลงเข้าหูอาจได้รับการหยอดยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5–7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงในช่องหูด้วย