แสบตาโดยไม่มีสาเหตุ เป็นอาการผิดปกติทางดวงตาในลักษณะที่ดวงตาจะมีอาการระคายเคืองและปวดแสบโดยที่ผู้ที่มีอาการหาสาเหตุไม่พบ โดยในบางครั้ง อาการนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะค่อย ๆ หายไปได้เอง หรืออาจจะใช้วิธีดูแลตัวเอง เช่น ประคบเย็น หรือประคบอุ่น เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันในขณะที่มีอาการนี้ได้สะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง อาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุก็อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกถึงโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกายที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากแพทย์ได้เช่นกัน การทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้น ทั้งด้านสาเหตุ การดูแลตัวเองในเบื้องต้น และสัญญาณที่บอกว่าควรไปพบแพทย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้เมื่อแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ
ในบางครั้ง อาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างได้ เช่น
1. ตาล้า
ตาล้า หรือดวงตาอ่อนล้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยของอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ดวงตาหนัก ไม่ว่าจะเป็นการจ้องจอคอมพิวเตอร์ การจ้องจอโทรศัพท์ การอ่านหนังสือนาน ๆ หรือการขับรถในระยะทางไกล
โดยผู้ที่มีภาวะตาล้าอาจจะเกิดอาการแสบตาตามมาได้ รวมถึงอาจมีอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น มีน้ำตาไหลมาก ตาแห้ง ดวงตามองไม่ชัด ดวงตาไวต่อแสง และคันตา
2. ตาแห้ง
ตาแห้ง เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายผลิตน้ำตาออกมาไม่เพียงพอ หรือน้ำตาที่ร่างกายผลิตออกมาเกิดการระเหยไวผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะนี้เกิดอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุตามมาได้
ภาวะนี้มักจะพบได้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การที่อายุเริ่มเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง การขาดวิตามินเอ การสวมใส่คอนแทคเลนส์ การอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันเยอะ โรคภูมิแพ้ การทำงานที่ต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน อย่างโรคพุ่มพวง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
3. เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)
เยื่อบุตาอักเสบ เป็นภาวะที่เยื่อบุตา หรือชั้นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่ปกคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย และการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้
นอกจากอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุแล้ว ผู้ป่วยภาวะนี้ยังอาจพบอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ตาแดง มีน้ำตาไหลมาก คันตา ดวงตาไวต่อแสง เปลือกตาบวม มองเห็นภาพเบลอ และพบขี้ตาสีเหลืองเกาะติดที่ขนตาในปริมาณมาก โดยเฉพาะหลังตื่นนอน
4. กระจกตาอักเสบ
กระจกตาอักเสบ เป็นภาวะที่กระจกตา หรือดวงตาส่วนที่ปกคลุมม่านตาและรูม่านตาเกิดการอักเสบ โดยสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งการได้รับการบาดเจ็บที่ดวงตา การสวมใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานาน การได้รับรังสียูวีนาน ๆ การขาดวิตามินเอ ไปจนถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา และการติดเชื้อไวรัส
ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ตาแดง ดวงตามีน้ำตาไหลมาก รู้สึกคล้ายมีบางอย่างติดที่ดวงตา มองเห็นภาพเบลอ และดวงตาไวต่อแสง
5. ต้อหิน
ต้อหินเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทดวงตา ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่คอยทำงานส่งสัญญาณระหว่างดวงตาและสมอง เกิดความเสียหาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ความดันในดวงตาเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ก็เช่น ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยภาวะนี้ ผู้ที่มีสายตายาวหรือสายตาสั้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และผู้ที่ใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ
ในหลาย ๆ ครั้งอาการนี้มักไม่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติใด ๆ ในช่วงแรก แต่บางคนก็อาจเกิดอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ได้ เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ มองเห็นแสงสีรุ้งล้อมรอบดวงไฟ ตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดจุดบอดที่มองไม่เห็นในดวงตา
6. ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)
ภูมิแพ้อากาศ เป็นภาวะที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ ซึ่งรวมถึงอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ จากการที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ อย่างละอองเกสรจากพืช ฝุ่นละออง หรือสะเก็ดรังแคจากสัตว์ เข้าสู่ร่างกาย
โดยนอกจากอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังมักพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันคอ คันตา ตาแดง และมีน้ำตาไหลมาก
7. เปลือกตาอักเสบ
เปลือกตาอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไขมันบริเวณใกล้ฐานขนตาเกิดการอุดตัน โดยสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ก็อาจเป็นได้หลากหลาย เช่น การติดเชื้อ การแพ้ยาบางอย่าง และการแพ้เครื่องสำอางบางชนิด
ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะพบว่าอาการที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษในช่วงหลังตื่นนอน โดยอาการที่อาจพบได้ของภาวะนี้ก็เช่น แสบตาโดยไม่มีสาเหตุ ดวงตามีน้ำตาไหลมาก ตาแดง รู้สึกเหนอะหนะที่เปลือกตา คันเปลือกตา ดวงตาไวต่อแสง และมองเห็นภาพไม่ชัดแต่มักจะดีขึ้นเมื่อกะพริบตาถี่ ๆ
8. มะเร็งดวงตา
มะเร็งดวงตาเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์บางชนิดที่ดวงตาเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้องอกตามมา ซึ่งในบางคนก้อนเนื้อดังกล่าวอาจเกิดการแตกออกและแพร่กระจายไปยังอวัยวะบริเวณอื่นของร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ไม่พบ
ส่วนด้านอาการ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในช่วงแรก แต่จะเริ่มพบเมื่อโรคเริ่มมีความรุนแรง โดยอาการที่อาจพบได้ก็เช่น สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือบางคนอาจสูญเสียการมองเห็นทั้งหมด มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นจุดลอยไปมา มองเห็นแสงกะพริบในดวงตา ตาบวม หรือพบก้อนเนื้อในเปลือกตาหรือมีก้อนเนื้อจากดวงตา
วิธีรับมือเมื่อมีอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ
ผู้ที่มีอาการแสบตาโดยไม่ทราบสาเหตุอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้น
- ประคบเย็น หรือประคบอุ่นลงบนเปลือกตา
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาและลดโอกาสการเกิดอาการตาแห้ง
- ใช้น้ำสะอาด หรือน้ำยาสำหรับล้างตา ล้างดวงตา เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และบรรเทาอาการจากอาการตาแห้ง
- หากต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ให้พยายามหาเวลาสั้น ๆ เพื่อพักดวงตาบ่อย ๆ
- หากต้องออกไปข้างนอก ให้สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงแดดและลม
- ปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชุ่มให้ดวงตา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น สถานที่ที่มีฝุ่นควันเยอะ
- สำหรับผู้เป็นภูมิแพ้ อาจจะปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากเห็นว่าลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการแสบตายังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ผู้ที่มีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ มีผื่นขึ้น ดวงตาไวต่อแสง มองเห็นจุดลอยไปมา หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับการมองเห็นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม