โรคซึมเศร้า กับโรคการกินผิดปกติ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

โรคซึมเศร้าและโรคการกินผิดปกติเป็นโรคที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก เนื่องจากโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ ส่วนโรคการกินผิดปกติเป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่แปรปรวน โดยทั้ง 2 โรคสามารถเกิดควบคู่กันได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ขาดสารอาหาร อ้วนหรือผอมเกินไป มีอาการซึมเศร้า ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ตลอดจนอาจคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เป็นต้น

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ากับโรคการกินผิดปกติเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ มีอาการโศกเศร้า ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง และอาจทำให้เกิดโรคการกินผิดปกติตามมาได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเบื่ออาหารและกินอาหารน้อยลง แต่บางรายอาจกินอาหารเพิ่มขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมการกินอาหารของตนเองได้ อีกทั้งหากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้ามากขึ้นเกี่ยวกับภาพลักษณ์และรูปร่างของตนด้วย

ส่วนโรคการกินผิดปกติเป็นความเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรงและส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของผู้ป่วย ซึ่งโรคการกินผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ โรคคลั่งผอมหรืออะนอเร็กเซีย โรคล้วงคอหรือบูลิเมีย และโรคกินมากเกินไป แม้จะยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคการกินผิดปกติ แต่ผู้ป่วยโรคกินมากเกินไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์มีประวัติอาการซึมเศร้า อีกทั้งการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซียมีโอกาสฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 50 เท่า จึงคาดว่าโรคการกินผิดปกติอาจเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกัน

สังเกตอย่างไรว่ากำลังป่วย ?

สัญญาณของโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะมีความอยากอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป หากไม่รู้สึกเบื่ออาหารก็จะอยากอาหารมากกว่าปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีความคิดทำร้ายตนเองได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากพบอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการโศกเศร้า รู้สึกผิด รู้สึกเบื่อกิจกรรมที่เคยสนใจ หรือนอนไม่หลับ
  • กินอาหารครั้งละมาก ๆ บ่อย ๆ หรือกินอาหารแม้จะไม่ได้หิวก็ตาม
  • มีพฤติกรรมการกินและน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
  • มีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ฟันผุ แสบร้อนกลางอก ท้องผูก หรือคลื่นไส้ เป็นต้น

สัญญาณของโรคการกินผิดปกติ มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้ป่วยอาจมีปัญหาทางอารมณ์ด้วย เช่น ซึมเศร้า ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง วิตกกังวล หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมและอาการจะแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคการกินผิดปกติ ดังต่อไปนี้

โรคอะนอเร็กเซีย ผู้ป่วยจะคิดว่าตนเองอ้วนและยังผอมไม่พอ แม้จะผอมหรือน้ำหนักลดลงไปมากแล้วก็ตาม บางรายถึงขั้นอดอาหาร ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือล้วงคอให้อาเจียนออกมาหลังมื้ออาหาร นอกจากนี้ อาจพบอาการและพฤติกรรมอื่น ๆ ดังนี้

  • พูดหรือคิดว่าตนเองอ้วนตลอดเวลา และไม่คิดว่าการผอมเกินไปจะเป็นปัญหาหรือส่งผลเสียต่อร่างกาย
  • เสพติดการลดน้ำหนัก หรือน้ำหนักลดลงอย่างมาก
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ หรือเสื้อผ้าขนาดใหญ่เพื่อปิดบังร่างกาย
  • หมกมุ่นกับการคำนวณแคลอรี่ในอาหาร
  • เตรียมอาหารให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่กินอาหารของตนเอง หรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • ประจำเดือนไม่มา ปวดท้อง ท้องผูก หรือมีรูปร่างผิดปกติ

โรคบูลิเมีย ผู้ป่วยจะกินอาหารในปริมาณมากแล้วจึงล้วงคอให้อาเจียนออกมาอยู่บ่อยครั้ง อาจอดอาหารหรือออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อชดเชยอาหารที่กินเข้าไปด้วย และคิดว่าตนเองอ้วนคล้ายกับผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซีย แต่ผู้ป่วยโรคนี้มักมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และอาจพบอาการหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ดังนี้

  • กินอาหารปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ
  • หากอยู่ต่อหน้าผู้อื่น จะกินอาหารในปริมาณน้อยมาก หรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • รู้สึกผิดและอายในพฤติกรรมการกินของตนเอง และพยายามปิดบังพฤติกรรมเหล่านั้นไว้ไม่ให้ผู้อื่นรู้
  • มักหายไปเข้าห้องน้ำในระหว่างมื้ออาหาร คนรอบข้างอาจได้ยินเสียงล้วงคอ มีกลิ่นอาเจียนติดตัว หรืออาจพบรอยแผลเป็นที่ข้อนิ้วมือจากการล้วงคอบ่อย ๆ
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อปิดบังร่างกาย
  • พูดหรือคิดว่าตนเองอ้วนตลอดเวลา
  • ติดการเคี้ยวหมากฝรั่งหรือการใช้น้ำยาบ้วนปาก

โรคกินมากเกินไป ผู้ป่วยจะกินบ่อยและกินอาหารในปริมาณมากเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคบูลิเมีย หรือรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมการกินของตนเองได้ แต่ไม่มีการล้วงคอให้อาเจียน การอดอาหาร หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก จึงทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกิน เป็นโรคอ้วน หรือพบอาการและพฤติกรรมอื่น ๆ ดังนี้

  • กินอาหารปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ หรือกินแม้จะไม่ได้หิวก็ตาม
  • มักกักตุนอาหารปริมาณมากและซ่อนไว้ในที่แปลก ๆ
  • รู้สึกผิดหรือรังเกียจพฤติกรรมการกินของตนเอง
  • สวมเสื้อผ้าขนาดใหญ่เพื่อปิดบังร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • อดอาหารบ้างเป็นบางครั้ง แต่ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือลดน้ำหนัก

ทางออกสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคการกินผิดปกติ

เนื่องจากโรคซึมเศร้าและโรคการกินผิดปกติเป็นโรคที่ซับซ้อน โดยการรักษาโรคการกินผิดปกตินั้นรักษาได้ยาก ใช้เวลารักษานานกว่า และต้องอาศัยการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจิตแพทย์ นักโภชนาการ และนักบำบัดโรค จึงจำเป็นต้องวางแผนการรักษาตามเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจใช้ยาต้านเศร้าและยาคลายกังวล ร่วมกับการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยเกี่ยวกับการกินอาหาร และสร้างแรงจูงใจให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

เคล็ดลับการกินที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยควรกินอาหารตามปกติ ซึ่งนักโภชนาการจะให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ พฤติกรรมการกิน และวางแผนการกินอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย และแม้การกินอาหารที่มีประโยชน์จะไม่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่อาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการของโรคได้ดีขึ้น โดยควรกินอาหารดังต่อไปนี้

  • อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามิน เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าการขาดวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และทริปโตเฟน มีผลเสียต่ออารมณ์ อีกทั้งความอยากอาหารที่ลดลงและการอดอาหารจะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้โรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้นได้
  • อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 เช่น ปลาและอาหารทะเล ถั่ว เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสารนี้มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง และการศึกษาบางส่วนได้แสดงให้เห็นว่าโอเมก้า 3 อาจช่วยให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาต้านเศร้าได้ดีขึ้น

เคล็ดลับสุขภาพดีสำหรับผู้ป่วยโรคการกินผิดปกติ เน้นการควบคุมให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่หักโหมออกกำลังกายจนเกินไป หยุดล้วงคอหลังมื้ออาหาร มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมและได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งควรปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • รักษาปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากภาวะทุพโภชนาการหรือโรคอ้วนก่อน
  • ทำความเข้าใจและตระหนักว่าสารอาหารมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร และโรคการกินผิดปกติทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือส่งผลเสียต่อรูปร่างของผู้ป่วยอย่างไร
  • วางแผนการกินอย่างเหมาะสม กินอาหารที่อุดมไปด้วยสารโภชนาการ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย
  • กินอาหารให้เป็นปกติวันละ 3 มื้อ และอาจกินขนมหรือของหวานด้วยก็ได้