โรคเลือด เป็นความผิดปกที่เกิดขึ้นกับเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
เลือดนั้นสำคัญอย่างไร ?
ร่างกายมนุษย์จะมีเลือดไหลเวียนนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงระบบต่าง ๆ โดยเลือดมีองค์ประกอบซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- เซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาศัยฮีโมโกลบินเป็นตัวนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์
- เซลล์เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่จัดการกับเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม และช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อต่าง ๆ
- เกล็ดเลือด จะรวมตัวกันบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อทำให้เลือดแข็งตัวและลดการเสียเลือด
ทำความรู้จักกับโรคเลือดที่สำคัญ
โรคเลือดที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว และทำให้มีสมาธิลดลง เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งโรคเลือดที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง ได้แก่
- ภาวะโลหิตจาง ร่างกายจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โลหิตจางจากโรคเรื้อรัง โลหิตจางจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโลหิตจางจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นต้น ซึ่งบุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางสูง ได้แก่ ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่ขาดสารอาหารอย่างธาตุเหล็กหรือวิตามินบี 12 ผู้ป่วยโรคลำไส้ ผู้หญิงในวัยมีประจำเดือน ผู้หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็งหรือโรคไต
- โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดความผิดปกติในการสร้างฮีโมโกลบินและการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง จึงมีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินจำเป็น ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีกระดูกผิดรูปโดยเฉพาะกระดูกบริเวณใบหน้า ม้ามโต มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าอย่างมาก และผู้ป่วยเด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า
- ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น เป็นความผิดปกติของไขกระดูกจนทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมาก เมื่อเลือดข้นขึ้นหรือมีการก่อตัวของลิ่มเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจ สมอง และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานได้อย่างเต็มที่ หากขาดเอนไซม์นี้ไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะเจอปัจจัยกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ความเครียด อาหารและยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม ม้ามโต เมื่อยล้า ผิวซีด ภาวะดีซ่าน หายใจหอบเหนื่อย หรือหัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
โรคเลือดที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อได้ง่ายหรือติดเชื้อบ่อยครั้ง เมื่อยล้า น้ำหนักตัวลดลงแบบหาสาเหตุไม่ได้ หรือรู้สึกไม่สบาย ซึ่งโรคเลือดที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว ได้แก่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่เซลล์เม็ดเลือดขาว จนทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวในปริมาณที่ผิดปกติภายในไขกระดูก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกอ่อนเพลียและเมื่อยล้า มีเหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลดลง ปวดและตึงที่กระดูก ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือม้ามโต ติดเชื้อได้ง่าย มีจุดแดงตามผิวหนัง เกิดแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือเป็นโรคเลือด รวมถึงผู้ที่เคยรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี บุคคลกลุ่มดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา เกิดจากพลาสมาเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งกลายเป็นมะเร็ง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการผลิตสารภูมิต้านทานแอนติบอดี้ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ระบบประสาท เลือด และการทำงานของไต ซึ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพลาสมาเซลล์ชนิดอื่น ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูง
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดมะเร็งขึ้นในระบบน้ำเหลือง ซึ่งประกอบด้วยน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลือง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว โดยมีการเพิ่มจำนวนขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบมีอาการบวม หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ เมื่อยล้า เหงื่อออกมากตอนกลางคืน ปวดกระดูก ม้ามโต ปวดท้อง หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น
- โรคเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome) เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเมื่อยล้า หายใจหอบเหนื่อย เกิดการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สมบูรณ์มีปริมาณต่ำ ผิวซีดจากภาวะโลหิตจาง เป็นแผลฟกช้ำและมีเลือดออกได้ง่ายเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
โรคเลือดที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด หากมีเกล็ดเลือดน้อยเกินไปหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ แม้อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เสียเลือดมากได้ แต่หากมีเกล็ดเลือดมากเกินไปก็อาจก่อตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันภายในหลอดเลือด ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งโรคเลือดที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด ได้แก่
- เกล็ดเลือดสูง เกิดขึ้นเมื่อไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดมากผิดปกติ โดยร่างกายคนทั่วไปจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นเมื่อเกิดบาดแผลเพื่อทำให้เลือดหยุดไหล แต่ผู้ที่มีเกล็ดเลือดสูงตั้งแต่ 450,000 เกล็ด/ไมโครลิตรขึ้นไป ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นแม้จะไม่มีบาดแผลเกิดขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะบริเวณสมอง มือ หรือเท้า ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลงและส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ หรือไต เป็นต้น โดยผู้ป่วยเกล็ดเลือดสูงมักมีอาการวิงเวียน สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ มีอาการชาที่มือและเท้า เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หรือเป็นลม เป็นต้น
- เกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่มีจำนวนเกล็ดเลือดน้อยกว่า 150,000 เกล็ด/ไมโครลิตร ซึ่งอาจเป็นผลมาจากไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ ร่างกายใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป เกิดการติดเชื้อ ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือตับแข็ง โดยจะทำให้เกล็ดเลือดถูกกักอยู่ที่ม้าม ซึ่งเป็นอวัยวะที่ขจัดเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม และเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากกระแสเลือด เมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น เกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย เลือดหยุดไหลยากหรือไหลออกมากแม้บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เป็นต้น
- เกล็ดเลือดทำงานบกพร่อง ทำให้เลือดไหลไม่หยุดอย่างโรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดมีโปรตีนที่ทำให้เลือดแข็งตัวไม่เพียงพอจึงทำให้เกล็ดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อได้รับบาดเจ็บทำให้มีเลือดออกภายในร่างกายโดยเฉพาะที่หัวเข่า ข้อเท้า หรือข้อศอก ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียอาจมีเลือดออกมากกว่าปกติ สร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การรักษาโรคเลือด
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเลือดแต่ละชนิด รวมถึงอายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์อาจรักษาโรคเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การใช้ยา ใช้ยาโรมิโพลสติมเพื่อกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือด ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อต่าง ๆ สำหรับโรคที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว หรืออาจรับประทานอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก โฟเลต เป็นต้น
- การผ่าตัด แพทย์อาจปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนไขกระดูกที่ได้รับความเสียหาย หรือให้เลือดเพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดในร่างกาย ซึ่งหากเป็นการปลูกถ่ายเซลล์หรือรับเลือดจากผู้บริจาคจำเป็นต้องตรวจความเข้ากันได้ของระบบเลือดทั้ง 2 ฝ่ายก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา