โรคแกะผิวหนัง (Dermatillomania/Skin picking disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมักแกะ แคะ บีบ หรือเกาผิวหนังจนเกิดบาดแผล โดยที่ไม่สามารถยับยั้งใจตนเองได้ โดยโรคแกะผิวหนังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดและกังวลเกี่ยวกับตนเอง อีกทั้งบาดแผลที่เกิดจากโรคแกะผิวหนังยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อและรอยแผลเป็นอีกด้วย
โรคแกะผิวหนังจัดเป็นหนึ่งในลักษณะของโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorders: OCDs) โดยสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของสมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรม กลไกการรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด หรือความอับอาย
สัญญาณของโรคแกะผิวหนังที่ควรสังเกต
โรคแกะผิวหนังแตกต่างจากการแกะผิวหนังโดยทั่วไป เพราะการแกะผิวหนังที่เกิดจากโรคแกะผิวหนังอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวและไม่สามารถยับยั้งตนเองให้หยุดทำได้ โดยโรคแกะผิวหนังสามารถสังเกตได้จากลักษณะต่าง ๆ เช่น
- ไม่สามารถยับยั้งตนเองในการหยุดแกะ แคะ เกา หรือบีบผิวหนัง
- แกะผิวหนังจนทำให้เกิดรอยแผลหรือรอยช้ำบนผิวหนัง
- แกะผิวหนังบ่อยเมื่อรู้สึกเครียดหรือกังวล
- แกะผิวหนังด้วยนิ้ว เล็บ ฟัน หรืออาจใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อแกะ แคะ บีบ หรือเกาผิวหนัง เช่น แหนบ คลิปหนีบกระดาษ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการของโรคแกะผิวหนังยังอาจมีอาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์
วิธีรักษาโรคแกะผิวหนังอย่างเหมาะสม
ในบางครั้งอาการของโรคแกะผิวหนังอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวหรือไม่สามารถหักห้ามใจได้ จึงอาจทำให้อาการของโรคแกะผิวหนังที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะรักษาด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การไปพบจิตแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นได้
โดยจิตแพทย์จะวินิจฉัยอาการและสอบถามอาการต่าง ๆ หากเป็นโรคแกะผิวหนัง แพทย์จะทำการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด และอาจจ่ายยาต่าง ๆ ตามอาการร่วมด้วย เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านอาการทางจิต
ในระหว่างการรักษา อาจลดอาการแกะผิวหนังได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- อย่าปล่อยมือให้ว่าง อาจลองหาลูกบอลมาบีบหรือใส่ถุงมือเพื่อป้องกันการแกะผิวหนัง
- ค้นหาเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดโรคแกะผิวหนัง และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว
- ปรึกษาคนรอบตัว ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นช่วยสังเกตและช่วยเตือนเมื่อเกิดอาการของโรคแกะผิวหนัง
- ตัดเล็บให้สั้นและรักษาความสะอาดของเล็บอยู่เสมอ
- ดูแลรักษาผิวหนังให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เกิดจากอาการของโรคแกะผิวหนัง
- เก็บแหนบ คลิปหนีบกระดาษ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถใช้แกะ แคะ บีบ หรือเกาผิวหนังให้ออกห่างจากตัว
ความรู้สึกอยากแกะผิวหนังอาจค่อย ๆ ลดลงและหายไปหลังจากได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม โรคแกะผิวหนังเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น การเข้ารับการรักษาตามแผนการรักษาอย่างสม่ำเสมอและกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะอาการของโรคแกะผิวหนังได้