การตื่นระหว่างคืนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยหลายคนอาจเคยตื่นกลางดึกโดยไม่รู้ตัว แต่หากเกิดขึ้นบ่อยก็อาจทำให้หงุดหงิดรำคาญใจได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตื่นกลางดึกนั้นเกิดได้จากหลายอย่าง แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใด การนอนหลับไม่สนิทหรือตื่นขึ้นมากลางดึกจะส่งผลให้ร่างกายต้องใช้เวลาในการกลับสู่วงจรการนอนหลับใหม่ ทำให้เราตื่นมาอย่างอ่อนเพลียจนอาจกระทบต่อการทำกิจกรรมในวันรุ่งขึ้นหรืออาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
โดยปกติแล้ว สมองของคนเราจะทำงานเป็นวงจรเมื่อเรานอนหลับ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ เริ่มจากระยะหลับธรรมดา (Non-Rapid Rye Movement หรือ Non-REM) แล้วจึงค่อยเข้าสู่ระยะหลับฝัน (Rapid Eye Movement หรือ REM) หลังจากนอนหลับไปแล้วประมาณ 90 นาที จากนั้นจะวนกลับมายังระยะหลับฝันทุก ๆ 90 นาที จึงนับเป็นหนึ่งรอบของวงจรการนอนหลับ
ด้วยเหตุนี้ การนอนหลับอย่างเต็มอิ่มโดยไม่ถูกรบกวนจึงสำคัญต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะในระยะหลับฝัน เพราะเป็นระยะสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายและสมองเพื่อการทำกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น บทความนี้จะมาช่วยไขข้อข้อใจเกี่ยวกับสาเหตุของการตื่นกลางดึก และแนะนำวิธีรับมืออย่างง่าย ๆ ให้ได้ลองไปปรับใช้กัน
สาเหตุและวิธีรับมือกับการตื่นกลางดึก
ตื่นกลางดึกอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของเราเองหรือสภาพแวดล้อมที่รบกวนการนอนหลับ เช่น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นอาการผิดปกติของการนอนหลับที่พบได้บ่อย และถือเป็นภาวะที่ควรได้รับการตรวจรักษาเนื่องจากเป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะขณะนอนหลับ เมื่อมีการหยุดหายใจบ่อยครั้งจะทำให้ผู้ป่วยหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืนและไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมถึงยังทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงและหัวใจทำงานผิดปกติได้
อาการที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ กรนเสียงดังผิดปกติ ตื่นกลางดึกเนื่องจากหายใจไม่สะดวก รู้สึกเจ็บคอหรือปากแห้งเมื่อตื่นนอน หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจขาดเลือดที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
หากมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการวินิจฉัยคือการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ซึ่งผู้ป่วยต้องพักค้างคืนในโรงพยาบาลเพื่อตรวจการทำงานของร่างกายขณะหลับ และอาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ มาช่วยบรรเทาอาการ โดยประกอบไปด้วย
- การปรับพฤติกรรม ได้แก่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการนอนหงายโดยให้เปลี่ยนเป็นนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การใช้เครื่องเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ซึ่งจะเป่าลมเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้ขยายตัวตลอดเวลาขณะที่นอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยได้รับอากาศอย่างเพียงพอและหลับสนิทมากขึ้น
- การใส่เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ไว้ในปากขณะนอนหลับเพื่อเลื่อนขากรรไกรไปทางด้านหน้า ซึ่งช่วยให้ผู้สวมใส่หายใจสะดวกขึ้นและนอนหลับได้สนิทตลอดคืน
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
นอนไม่หลับเป็นความผิดปกติของการนอนที่พบได้บ่อย ส่งผลให้มีอาการนอนหลับยาก ง่วงยาก หรือนอนแล้วตื่นขึ้นมากลางดึกโดยหลับต่อได้ยาก ซึ่งการนอนไม่หลับอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ การใช้ยา หรือพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ และการทำงานเป็นกะที่ทำให้นอนไม่เป็นเวลา เป็นต้น
อาการนอนไม่หลับอาจเกิดขึ้นในระยะสั้นหรืออาจเกิดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตหลายด้าน เริ่มจากร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี ทำงานผิดพลาด และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
การรักษาโรคนอนไม่หลับมักเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการนอน เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการงีบระหว่างวัน และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมก่อนเข้านอน เป็นต้น หากใช้วิธีปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล การรักษาอาจเป็นการใช้ยาหรือการบำบัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ หากอาการนอนไม่หลับเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว อย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคพาร์กินสัน แพทย์อาจรักษาโรคประจำตัวควบคู่กันไป เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาโรคนอนไม่หลับที่ดีขึ้น
ความเครียดและวิตกกังวล
ความเครียดและวิตกกังวลมักทำให้ผู้ที่มีอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) และโรคสมาธิสั้น ในขณะเดียวกัน การนอนหลับไม่เพียงพอในแต่ละคืน อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวลหรือทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่แย่ลงได้
การรักษาอาการนอนไม่หลับหรือตื่นกลางดึกที่เกิดจากภาวะความผิดปกติของจิตใจ มักใช้วิธีการปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์ อย่างการใช้ยาหรือการบำบัดด้วยวิธีปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) โดยผู้ที่นอนไม่หลับที่มีสาเหตุจากความเครียดและวิตกกังวลสามารถดูแลตนเองด้วยวิธี ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- อ่านหนังสือเบาสมอง ฟังเพลงเบา ๆ ทำสมาธิ หรือจดบันทึกสิ่งที่กังวลลงในกระดาษ เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายความเครียดหรือความกังวลก่อนนอน
- จัดห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ แสงไฟในห้องนอนไม่ควรสว่างเกินไป และไม่ควรมีสิ่งรบกวนขณะนอนหลับ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
หลายคนอาจมีปัญหาตื่นกลางดึกมาปัสสาวะอยู่บ่อย ๆ ซึ่งการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากพฤติกรรมก่อนนอน อย่างการดื่มน้ำมากเกินไปหรือดื่มน้ำใกล้เวลานอน ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะในปริมาณมากขึ้น ดังนั้น ก่อนเข้านอนจึงควรเข้าห้องน้ำและลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนนอนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แต่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับปริมาณที่ควรได้รับต่อวันด้วย
นอกจากนี้ การปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนยังมักพบในผู้ที่มีความเจ็บป่วยหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อนหรือบีบตัวไวเกิน เบาหวาน การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงการตั้งครรภ์ โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์กว่าร้อยละ 60 มีปัญหาด้านการนอน อย่างนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
การตื่นกลางดึกอาจเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ ซึ่งอาจสร้างความรำคาญใจและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หากทราบสาเหตุของการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนก็จะช่วยให้แก้ไขและรักษาได้อย่างตรงจุด บางรายที่มีปัญหาสุขภาพจนส่งผลต่อการนอน อาจขอคำปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
นอกจากข้อแนะนำข้างต้น การจัดห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนอาจช่วยให้นอนหลับสนิทและแก้ปัญหาการตื่นกลางดึกได้ โดยห้องนอนไม่ควรมีสิ่งรบกวน มีอุณหภูมิพอเหมาะ ใช้แสงไฟโทนอุ่นอย่างสีเหลืองนวลที่ไม่สว่างจนเกินไป ทั้งนี้ หากพบว่ายังตื่นกลางดึกบ่อยครั้งหรือกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป