ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เป็นกลุ่มไขมัน (Lipid) ชนิดหนึ่งที่พบในเลือดของคนเรา ซึ่งร่างกายสังเคราะห์ได้เอง หรือได้จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรต หลังจากร่างกายย่อยสลายสารอาหารเหล่านี้แล้ว ส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และสะสมอยู่ในเนื้อเยี่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรอง
หากร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์สูงจะทำให้เกิดคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงหนาและตีบตัน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease: PAD) รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของโรคตับและโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันด้วย
ไตรกลีเซอไรด์สูงเกิดจากอะไร
ปัจจัยที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคประจำตัว และการใช้ยา เช่น
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น ได้รับการถ่ายทอดยีนจากคนในครอบครัวที่มีประวัติไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลสูง หรือมีการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่าปกติ
- การรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการ และการรับประทานอาหารที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง เนย นมไขมันเต็ม ข้าวและแป้งที่ผ่านการขัดสี ลูกอม น้ำหวาน ขนมหวาน อาหารทอด และฟาสต์ฟู้ด
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้ตับผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น
- ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ
- โรคประจำตัว เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โรคตับ โรคไต ภาวะขาดไทรอยด์ การตั้งครรภ์ และการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษา HIV และยาฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสติน (Progestin)
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีไตรกลีเซอไรด์สูง
โดยทั่วไป คนมักจะไม่ทราบว่าตนเองมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง เพราะโดยปกติแล้วจะไม่มีอาการผิดปกติจนกว่าจะเกิดโรคที่เป็นผลจากระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานาน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
การตรวจวัดระดับไตรกลีเซอไรด์จากการตรวจเลือดจะช่วยให้ทราบว่าค่าไตรกลีเซอไรด์อยู่ที่ระดับใด โดยการตรวจจะถูกรวมอยู่ในการตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) ซึ่งจะทำให้ทราบระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ในการตรวจเดียวกัน ก่อนการตรวจไตรกลีเซอไรด์ แพทย์จะให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเป็นเวลา 12 ชั่วโมง แต่ในบางสถานที่ตรวจอาจอนุญาตให้ดื่มน้ำเปล่าได้
ผลการตรวจเลือดจะนำมาเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
- ระดับปกติ: ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับสูงเล็กน้อย: 150–199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับสูง: 200–499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับสูงมาก: มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์
เนื่องจากพลังงานส่วนเกินที่ได้รับจากการรับประทานอาหารจะถูกแปลงเป็นไตรกลีเซอไรด์สะสมในร่างกายหากตรวจพบว่ามีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง สิ่งที่ควรทำคือการควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายด้วยวิธีดังต่อไปนี้
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Single Carbs) สูง เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด นมไขมันเต็ม ชีส และขนมหวาน โดยข้อแนะนำในการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ มีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน ถั่วและเมล็ดพืชต่าง ๆ ซึ่งโอเมก้า 3 จะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้
- รับประทานข้าว แป้ง และธัญพืชขัดสีน้อยที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ
- เลือกรับประทานอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้สด ถั่วอบที่ไม่ปรุงแต่งรส
- ใช้น้ำมันพืชในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันคาโนล่า น้ำมันมะกอก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเลือกดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มไม่ผสมน้ำตาลแทนการดื่มน้ำอัดลม และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เคี้ยวอาหารช้า ๆ เพื่อให้อิ่มเร็วขึ้น และไม่ควรอดอาหาร เพราะจะทำให้รู้สึกหิวและรับประทานอาหารในมื้อต่อไปมากขึ้น
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ออกกำลังกายความหนักระดับปานกลาง เช่น เดิน วิ่ง และขี่จักรยานสัปดาห์ละ 150 นาที หรือแบ่งเป็น 5 วัน วันละ 30 นาที การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในระหว่างวันควรทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินในช่วงพักเที่ยง หรือเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
นอกจากการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน งดสูบบุหรี่ จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงสบาย ๆ และเล่นโยคะ รวมทั้งดูแลตัวเองและใช้ยารักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูงตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในระดับปกติได้
ในกรณีที่ใช้วิธีดูแลตัวเองแล้ว แต่ระดับไตรกลีเซอไรด์ยังคงสูง เช่น คนที่ไตรกลีเซอไรด์สูงจากกรรมพันธุ์ หรือมีโรคหัวใจ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาควบคู่กับการดูแลตัวเอง เช่น ยากลุ่มไฟเบรท (Fibrates) ไนอะซิน (Niacin) และกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด ท้องเสีย หรือเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่ใช้อยู่ จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด