ไบโพลาร์ กับสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ไบโพลาร์ เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ในบางกรณีอาจพบได้ในวัยเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการของโรคไบโพลาร์อาจส่งผลต่อกระบวนการความคิด อารมณ์ พฤติกรรม จนอาจทำให้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของไบโพลาร์ได้ แต่โรคนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณสารเคมีในสมอง การถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติสายตรงป่วยเป็นไบโพลาร์ รวมถึงมีสิ่งกระตุ้นอย่างการถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ปัญหาชีวิตรุมเร้า สูญเสียคนรัก มีอาการป่วยเรื้อรัง หรือการใช้สารเสพติด 

ไบโพลาร์ กับสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

การทราบถึงอาการของโรค การรักษา และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไบโพลาร์ในเบื้องต้น อาจช่วยให้คุณและคนที่คุณรักสามารถรับมือกับโรคดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

อาการไบโพลาร์ สัญญาณเตือนที่ควรรู้

โดยทั่วไป ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) สลับกันไปกับช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) และอาการคึกคักเล็กน้อย (Hypomania) โดยอาการที่เห็นได้ในแต่ละช่วงมีดังนี้

อาการในช่วงภาวะซึมเศร้า

ตัวอย่างของอาการไบโพลาร์ในช่วงภาวะซึมเศร้า ได้แก่

  • ไม่มีแรงหรือรู้สึกอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • มีปัญหาในการจดจ่อหรือการจดจำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงมีปัญหาด้านการตัดสินใจ
  • รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • รู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว
  • ง่วงนอนผิดปกติ นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ
  • ไม่มีความสุขจากสิ่งที่เคยชอบ 
  • ร้องไห้อย่างไม่มีสาเหตุ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากความอยากอาหารที่ผิดปกติ
  • ตีตัวออกห่างจากคนรอบตัว
  • มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

อาการในช่วงภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและในช่วงภาวะคึกคักเล็กน้อย 

ตัวอย่างของอาการไบโพลาร์ในช่วงภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและในช่วงภาวะคึกคักเพียงเล็กน้อย เช่น

  • รู้สึกตื่นเต้น มีความสุข หรือมีความหวังในชีวิตเป็นอย่างมากอยู่พักใหญ่
  • ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน หันเหความสนใจได้ง่าย
  • รำคาญง่าย หงุดหงิด และกระสับกระส่าย
  • รู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีความสามารถล้นเหลือ 
  • มีความต้องการทางเพศสูง
  • พูดเร็ว หุนหันพลันแล่น
  • ไม่ค่อยรู้สึกง่วงและตื่นตัวมากกว่าปกติ 
  • ใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็น

ความแตกต่างของ 2 ภาวะนี้คือ ภาวะคึกคักเล็กน้อยอาจแสดงอาการเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติอาจแสดงอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ รวมถึงอาการของภาวะคึกคักเล็กน้อยนั้นมักไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล 

วิธีการรับมือเมื่อเป็นไบโพลาร์

การรับมืออาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยไบโพลาร์สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติมากที่สุด โดยวิธีรับมือที่เหมาะสมกับผู้ป่วยไบโพลาร์มีดังต่อไปนี้

รับประทานยา

แพทย์จะจ่ายยาเพื่อให้อารมณ์ของผู้ป่วยคงที่มากขึ้น โดยปริมาณการใช้ยาและชนิดของยาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ยาวาลโปรเอท (Valproate) ยาลิเทียมคาร์บอเนต (Lithium Carbonate) หรือยาลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยอารมณ์คงที่มากขึ้น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล ยาควิไทอะปีน (Quetiapine) ยาอะริพิพราโซล (Aripiprazole) หรือยาริสเพอริโดน (Risperidone) ที่เป็นยาต้านอาการทางจิต และยาต้านเศร้าบางชนิด

ทำจิตบำบัด (Psychotherapy)

การทำจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะซึมเศร้า เข้าใจถึงความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตนเองและจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น แก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์ อีกทั้งยังช่วยระบุต้นเหตุของความเครียดและความเจ็บปวด การทำจิตบำบัดสำหรับผู้ป่วยไบโพลาร์มีทั้งการทำพฤติกรรมบำบัด (Behavioral Therapy) การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) การให้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) การทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หรือการทำครอบครัวบำบัด

จัดการกับความเครียด

ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะอารมณ์ดีผิดปกติได้ ผู้ป่วยจึงควรจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยการแบ่งเวลาเพื่อทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ฝึกการนั่งสมาธิหรือการเล่นโยคะ หากเป็นความเครียดที่เกิดจากการทำงาน อาจปรับเปลี่ยนสายงานไปในรูปแบบที่ก่อให้เกิดความเครียดน้อยลง 

รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง

สังเกตและรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองด้วยการจดบันทึกอารมณ์ในแต่ละช่วง และปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหรือความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการไบโพลาร์ เช่น ความผิดปกติด้านอารมณ์ ด้านพฤติกรรม การนอนหลับ หรือการรับประทานอาหาร เพราะหากสังเกตเห็นความผิดปกติตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น อาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้นและรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิม

ปรับพฤติกรรมการนอนหลับ

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละภาวะไม่รุนแรง และอาจช่วยให้อารมณ์ของผู้ป่วยแปรปรวนน้อยลง  ซึ่งการปรับพฤติกรรมการนอนนั้นจะรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกิจกรรมตั้งแต่ก่อนนอน โดยอาจสร้างความผ่อนคลายด้วยการอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงก่อนนอน จัดห้องนอนให้มีแสงน้อยที่สุดและเงียบสงบ นอนหลับและตื่นนอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณมากและการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกฮอล์ก่อนนอน

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

นอกจากการดูแลสุขภาพจิตใจแล้ว ผู้ที่มีอาการไบโพลาร์จะต้องดูแลสุขภาพกายด้วยเช่นกัน โดยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และได้รับสารอาหารครบถ้วน และควรออกกำลังกายเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด 

ให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม

การให้ครอบครัวหรือผู้ที่ใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการอารมณ์ของผู้ป่วย เพราะบุคคลเหล่านี้จะช่วยสังเกตอาการและรับฟังปัญหา ช่วยวางแผนในการแก้ไขปัญหา และช่วยระบุอาการในช่วงอารมณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี 

ซึ่งครอบครัวและผู้ใกล้ชิดจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ทั้งอาการ และสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ รวมทั้งควรวางแผนการรับมืออาการที่เกิดขึ้นในช่วงอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

หลีกเลี่ยงและป้องกันการฆ่าตัวตาย

เมื่อผู้ป่วยอารมณ์คงที่หรืออารมณ์ดี ควรแจ้งให้ครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดเฝ้าระวังหากผู้ป่วยแสดงท่าทีหรือมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เช่น ใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก จัดเตรียมทุกอย่างให้เข้าที่ทางเพื่อเตรียมตัวหากเสียชีวิตหรือเริ่มทำร้ายร่างกายตนเอง 

และหากผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตนเอง ควรแจ้งให้ครอบครัว ผู้ใกล้ชิด นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ทราบ และควรเฝ้าระวังความคิดดังกล่าวจนกว่าอารมณ์จะกลับมาเป็นปกติหรือคงที่

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไบโพลาร์ควรพบแพทย์ รับประทานยา และทำจิตบำบัดอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด โดยในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรเปิดใจให้กับแพทย์ในการพูดคุยแต่ละครั้งถึงอาการและความรู้สึกที่แท้จริงในปัจจุบัน เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

รวมทั้งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังการใช้ยา และไม่ควรรับประทานยาในปริมาณที่น้อยหรือมากกว่าที่แพทย์กำหนด

ในปัจจุบัน ไบโพลาร์จะเป็นโรคทางจิตเวชที่ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการคล้ายกับไบโพลาร์ ก็ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตของทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง อีกทั้งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือนและอาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้เช่นกัน