สารเคมีเข้าตาเป็นอุบัติเหตุที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากสารเคมีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีซึ่งอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนหรือใช้ในการทำงาน เช่น สบู่ เครื่องสำอาง ปุ๋ย น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ สารฟอกขาว
สารเคมีเข้าตาถือเป็นอุบัติเหตุที่จำเป็นจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลและการดูแลโดยเร็วที่สุด เพราะเมื่อสารเคมีเข้าตาแล้ว อาจทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บจนสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด เราทุกคนจึงควรระมัดระวังการใช้สารเคมีทุกชนิด และควรทราบถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว เพราะหากปฐมพยาบาลได้ทันเวลาแต่ใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมก็อาจเกิดอันตรายต่อดวงตาได้
เมื่อสารเคมีเข้าตาจะมีอาการอย่างไรบ้าง
สารเคมีในชีวิตประจำวันมีหลายรูปแบบ ทั้งของเหลว ผงละออง หรือก๊าซ โดยเมื่อสารเคมีเข้าตาของเราแล้ว อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกแสบร้อนบริเวณดวงตา ตาแฉะหรือน้ำตาไหลมากผิดปกติ ตาแดง ตามัว เปลือกตาแดงหรือบวม
การที่สารเคมีเข้าตายังอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาอย่างรุนแรง เช่น เกิดแผลที่กระจกตา กระจกตาทะลุ โรคต้อหิน ต้อกระจก หรืออาจทำให้สูญเสียดวงตาได้
นอกจากสารเคมีที่เป็นกรดอย่างกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric Acid) หรือกรดซัลฟูริก (Sulfuric Acid) แล้ว สารเคมีที่ควรระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ สารเคมีที่มีความเป็นด่าง เช่น แอมโมเนีย (Ammonia) แคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcium Hydroxide) โซดาไฟ (Sodium Hydroxide) เนื่องจากเมื่อเข้าตาแล้ว ดวงตาอาจได้รับความเสียหายโดยไม่ทำให้ผู้โดนสารเคมีรู้สึกเจ็บปวดเหมือนเมื่อสารเคมีที่มีความเป็นกรดสัมผัสดวงตา
ทำอย่างไรหากสารเคมีเข้าตา
หากมีสารเคมีชนิดต่าง ๆ เข้าสู่ดวงตา ผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรตั้งสติและปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างดวงตาให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น โดยเปิดน้ำใส่หน้าผากให้ไหลผ่านดวงตาทันทีเป็นเวลา 15–30 นาที แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำพุ่งจากก๊อกแรงจนเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
- ในกรณีที่สวมคอนแทคเลนส์ ควรถอดคอนแทคเลนส์หลังจากล้างตาด้วยน้ำเปล่าแล้ว
- หากรู้สึกแสบตาอย่างรุนแรง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ในระหว่างรอควรล้างตาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงมือแพทย์ และควรเบิกตาให้กว้างที่สุดในระหว่างที่ล้างตา
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือแปะผ้าปิดดวงตา
- ล้างมือให้สะอาดเพื่อกำจัดสารเคมีให้หมดจด และสวมแว่นกันแดดเพื่อลดอาการตาแพ้แสง
- เมื่อถึงโรงพยาบาล แจ้งให้แพทย์ทราบถึงชนิดของสารเคมีที่เข้าตา
อย่างไรก็ตาม สารเคมีเข้าตาสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมกระบังป้องกันใบหน้า (Face Shield) แว่นครอบตานิรภัยหรือแว่นตานิรภัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีสารเคมีจำนวนมาก เก็บสารเคมีให้มิดชิดและพ้นจากมือเด็ก เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย อ่านฉลากทุกครั้งก่อนนำสารเคมีมาใช้งานและใช้งานตามคำแนะนำโดยละเอียด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ในระหว่างการใช้สารเคมี