ปัญหาลูกนอนยาก แก้ไขให้ตรงจุด

ลูกนอนยากเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยเด็กบางคนอาจไม่ยอมนอนหรือบางคนตื่นกลางดึกบ่อย พ่อแม่จึงอาจรู้สึกเหนื่อยและหนักใจในการกล่อมให้ลูกนอนหลับสนิทตลอดทั้งคืน ปัญหาลูกนอนยากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเข้านอน กลัวการถูกทอดทิ้ง และปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับที่ควรได้รับการรักษา

การนอนหลับสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก การนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ ส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้เด็กมีความตื่นตัวและมีสมาธิทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน บทความนี้ขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอน และเรียนรู้วิธีรับมือเพื่อให้ลูกนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่ม

Kid difficult sleeping

รับมือปัญหาลูกนอนยากให้ตรงจุด

ปัญหาลูกนอนยากอาจเกิดจากปัจจัยที่ตัวเด็กเอง การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ที่เด็กเจอในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละสาเหตุมีวิธีรับมือต่างกัน ดังนี้

1. พัฒนาการของเด็กตามวัย

เด็กทารกจะมีภาวะหลับตื่นสลับกันไปตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นพัฒนาการปกติตามวัย เด็กอาจไม่หลับยาวในช่วงกลางคืนและตื่นมากินนมบ่อย รวมถึงอาจมีอาการบิดตัวด้วย ปัญหานี้มักจะดีขึ้นเมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน ซึ่งเด็กจะเริ่มหลับตอนกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมง และเมื่ออายุ 6 เดือนจะสามารถหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมง แต่อาจยังตื่นกลางดึกอยู่ ซึ่งเด็กทารกบางคนตื่นแล้วสามารถหลับต่อได้เอง แต่บางคนอาจต้องการให้พ่อแม่กล่อมจึงจะหลับต่อได้

2. บรรยากาศในห้องนอนไม่เอื้อต่อการนอน

พ่อแม่บางคนอาจรีบเร่งให้ลูกอาบน้ำและแปรงฟันเพื่อเข้านอน ซึ่งทำให้บรรยากาศวุ่นวายจนส่งผลให้ลูกนอนยาก หรือสภาพแวดล้อมในห้องนอนไม่เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น อุณหภูมิในห้องร้อนหรือหนาวเกินไป ไฟในห้องนอนสว่างเกินไป ในห้องนอนมีของเล่นหรือสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจจากการนอน

ดังนั้น ควรจัดห้องนอนให้มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการนำของเล่นไปไว้ในห้องนอนหรือนำของเล่นมาให้เด็กเล่นเมื่อถึงเวลานอน

3. กิจวัตรก่อนเข้านอนที่ไม่เหมาะสม

การที่พ่อแม่ให้ลูกเข้านอนดึกหรือนอนไม่เป็นเวลา และไม่มีสุขอนามัยการนอน (Sleep Hygiene) ที่เหมาะสมอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนยาก เช่น

  • ดูภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือที่น่ากลัวหรือน่าตื่นเต้น
  • กินอาหารปริมาณมาก ขนมหวาน และอาหารที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน
  • ดูโทรทัศน์และใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัว และยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาตั้งแต่ช่วงที่พระอาทิตย์ตกดิน จึงทำให้ลูกนอนหลับยาก

พ่อแม่ควรให้ลูกเข้านอนในเวลาเดียวกันทุกคืน ฝึกให้ทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น  กินอาหารเย็น แปรงฟัน อาบน้ำ สวมชุดนอนด้วยบรรยากาศที่สงบ ทำบรรยากาศในห้องนอนให้น่านอน เปิดโคมไฟสลัว ๆ และเล่านิทานให้ฟังเหมือนกันทุกคืน เพื่อให้รู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว 

นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กทำกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้น ดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลา 2–3 ชั่วโมงก่อนนอน หรือกินอาหารและขนมช่วงใกล้เข้านอน

4. เด็กไม่ยอมนอนคนเดียว

สาเหตุของปัญหาลูกนอนยากที่พบบ่อยคือ เด็กกลัวการนอนคนเดียวและกลัวว่าตื่นมาจะไม่เจอพ่อแม่ พ่อแม่ควรเริ่มจากการจัดเตียงสำหรับเด็กโดยเฉพาะซึ่งมีราวกั้นเพื่อป้องกันการตกเตียงและกันไม่ให้เด็กปีนออกมาได้ และนำเตียงเด็กไปไว้ในห้องนอนพ่อแม่ โดยไม่ควรให้เด็กเล็กนอนเตียงเดียวกับผู้ใหญ่เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และทำให้เด็กนอนหลับได้เต็มอิ่ม 

เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 3 ปี จึงสามารถเปลี่ยนจากเตียงเด็กที่มีราวกั้นเป็นเตียงปกติได้

หากเด็กตื่นกลางดึก อาจหลับต่อได้เองหรือร้องไห้งอแงเมื่อไม่เห็นพ่อแม่ สิ่งที่ควรทำคือพูดปลอบและลูบหลังเบา ๆ ไม่ควรอุ้มเด็กขึ้นมาหรือให้กินนมและขนม โดยเฉพาะหลังจากที่เด็กอายุเกิน 1 ขวบไปแล้ว เพราะจะทำให้เด็กไม่ยอมกลับไปนอนหลับต่อ

5. การงีบหลับช่วงกลางวัน

เด็กแต่ละวัยต้องการการนอนหลับต่างกัน หากเด็กเล็กไม่ได้งีบหลับในช่วงกลางวันอย่างเพียงพออาจทำให้ลูกนอนยากในตอนกลางคืน แต่เมื่อเด็กเริ่มโต ความต้องการการนอนหลับจะน้อยลง หากงีบหลับตอนกลางวันนานเกินไปอาจทำให้ไม่รู้สึกง่วงและไม่ยอมนอนในตอนกลางคืน พ่อแม่ควรให้ลูกนอนหลับอย่างเพียงพอตามช่วงอายุ ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดอายุ 0–3 เดือน ต้องการการนอนหลับวันละ 14–17 ชั่วโมง 
  • ทารกอายุ 4–11 เดือน ต้องการการนอนหลับวันละ 12–15 ชั่วโมง 
  • เด็กเล็กวัยหัดเดิน อายุ 1–2 ปี ต้องการการนอนหลับวันละ 11–14 ชั่วโมง
  • เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3–5 ปี ต้องการการนอนหลับวันละ 10–13 ชั่วโมง
  • เด็กวัยเรียน อายุ 6–13 ปี ต้องการการนอนหลับวันละ 9–11 ชั่วโมง

6. ความเครียดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ

เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อนแกล้ง ปัญหาเรื่องเรียน อาจทำให้เกิดความเครียดและทำให้เด็กไม่ยอมนอน นอกจากนี้ เด็กที่ผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การหย่าร้างของพ่อแม่ การสูญเสียคนที่เป็นที่รัก การย้ายที่อยู่และโรงเรียนใหม่ก็อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล และนอนไม่หลับ

ผู้ปกครองควรอยู่เป็นเพื่อนลูก พูดคุย และนำตุ๊กตาหรือผ้าห่มที่ลูกชอบมาให้นอนกอดเพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย หากเด็กที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมีอาการนอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย หวาดกลัวง่าย กรีดร้องหรือร้องไห้บ่อย อาจเป็นอาการของโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กอย่างเหมาะสม 

7. ความผิดปกติด้านการนอนหลับ

ความผิดปกติด้านการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกนอนยากและนอนหลับไม่สนิท โดยภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่

  • ฝันผวา (Sleep Terrors) ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด การนอนไม่พอ หรือเกิดเมื่อเป็นไข้ ทำให้มีอาการร้องตะโกน กรีดร้อง ถีบหรือเตะ ลุกขึ้นจากที่นอนด้วยความกลัวขณะหลับ ตาเบิกโพลงแต่ยังไม่ตื่นเต็มที่ ใจสั่น เหงื่อออกมาก โดยมักเกิดหลังจากหลับไปไม่นาน เมื่อตื่นมาเด็กมักจำเหตุการณ์ไม่ได้ ซึ่งต่างจากฝันร้ายทั่วไปที่จะเกิดช่วงเช้าใกล้ตื่นนอนและเด็กยังจำเรื่องราวในฝันได้
  • นอนไม่หลับ (Insomnia) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด กิจกรรมที่ทำก่อนนอน สภาพแวดล้อมในห้องนอน และโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งทำให้ลูกนอนยากและส่งผลต่ออารมณ์ สมาธิ ความจำ และการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เกิดจากต่อมทอนซิลและหรือต่อมอะดีนอยด์ซึ่งอยู่ด้านหลังของโพรงจมูกโตผิดปกติ และอาจพบในเด็กที่เป็นภูมิแพ้ มีโรคอ้วน เด็กมักนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก และคัดจมูกจนต้องหายใจทางปาก
  • ละเมอเดิน (Sleepwalking) อาจเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด ความเหนื่อยล้า การพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาการเจ็บป่วย โดยอาการที่เห็นชัดที่สุดคือลุกจากที่นอน พูดหรือออกท่าทางซ้ำ ๆ เดินออกไปนอกห้อง และเรียกแล้วไม่รู้สึกตัว
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) เป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากโรคประจำตัวและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งไต่ที่ขา ทำให้อยากขยับขาเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายขา ส่งผลให้นอนหลับได้ยาก

หากลูกไม่ยอมนอนและมีอาการผิดปกติจากการนอนที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา

8. โรคประจำตัวและการใช้ยา

อาการเจ็บป่วยและโรคประจำตัวอาจทำให้ลูกนอนยาก เช่น โรคหวัด โรคภูมิแพ้ และโรคหืดwww.pobpad.com/โรคหืดที่รบกวนระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ และยารักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างการนอนหลับยาก พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของลูก เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาและการใช้ยาที่เหมาะสม

ลูกนอนยากเป็นปัญหาที่อาจรับมือได้ยาก แต่หากทราบสาเหตุที่ทำให้ลูกนอนหลับยากหรือไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ทั้งคืนก็จะช่วยให้พ่อแม่หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม หากลูกไม่ยอมนอนและมีอาการผิดปกติควรจดบันทึกอาการและพฤติกรรมการนอนของลูก และแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป