โรคจิตเวช (Mental Health Disorders) คือกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป โรคทางจิตเวชมีหลายประเภท ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างกัน ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ และสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เรียน และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ
โรคจิตเวชเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก การได้รับบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนสมอง โรคเรื้อรังอื่น ๆ รวมทั้งการดื่มสุราและใช้สารเสพติด
โรคจิตเวชมีหลายโรค เช่น กลุ่มโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคที่เกี่ยวกับความเครียด ไปจนถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการกินและการนอนหลับ แต่ละโรคมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งโดยทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยา จิตบำบัด และการรักษาด้วยอื่น ๆ เพิ่มเติมกับจิตแพทย์และนักจิตบำบัด
โรคจิตเวชที่ควรรู้จัก
คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) แบ่งโรคจิตเวชไว้หลายกลุ่ม โดยโรคที่พบบ่อย เช่น
1. กลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety Disorders)
กลุ่มโรควิตกกังวลคือโรคที่ผู้ป่วยมีความกลัวและกังวลใจมากผิดปกติเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล จึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น เช่น
- โรคแพนิค (Panic Disorders) คือภาวะที่ผู้ป่วยตื่นตระหนกอย่างกะทันหันโดยไม่สามารถควบคุมได้เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล ผู้ป่วยมักรู้สึกหายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก โดยอาการอาจหายไปเองในช่วงเวลาสั้น ๆ
- ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalised Anxiety Disorders) ผู้ป่วยมักมีอาการวิตกกังวลหลายเรื่องเป็นเวลานาน โดยไม่สามารถหยุดคิดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการ
- โรคกลัว (Phobias) แบ่งเป็นโรคกลัวแบบจำเพาะ เช่น กลัวแมงมุม กลัวความสูง กลัวเลือด และโรคกลัวแบบซับซ้อน เช่น กลัวการเข้าสังคม
- โรคย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยจะมีความกังวลต่อเรื่องบางอย่างซ้ำ ๆ ทำให้รู้สึกไ่สบายใจจนต้องทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา เช่น ล้างมือบ่อยเพราะกลัวความสกปรก
2. กลุ่มโรคซึมเศร้า (Depressive Disorders)
โรคซึมเศร้าเป็นโรคจิตเวชที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม เช่น ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น บางคนอาจทำร้ายตัวเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depression) โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) โรคซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Depressive หรือ Dysthemia)
3. โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)
ไบโพลาร์เป็นโรคจิตเวชที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยจะมีช่วงที่อยู่ในภาวะอารมณ์ดีและตื่นตัวผิดปกติ (Mania Phrase) สลับกับช่วงที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depressive Phrase) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
4. กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับความเครียด (Stressor-related Disorders)
กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับความเครียดเป็นโรคจิตเวชที่เกิดจากการที่ผู้ป่วยเผชิญความเครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง
- โรคเครียด (Acute Stress Disorder) เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากการพบเจอหรือรับรู้เหตุการณ์อันตรายที่ร้ายแรง เช่น การสูญเสียคนรัก ภัยธรรมชาติ และอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการตื่นกลัว เห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมแยกตัวหรือพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น
- ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) มักเกิดขึ้นหลังจากการพบเจอสภาวะกดดัน เช่น การหย่าร้าง การตกงาน ทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก จนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) คล้ายกับโรคเครียด แต่ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงไปแล้วหลายเดือนหรือเป็นปี
5. ความผิดปกติด้านการกิน (Eating Disorders)
ความผิดปกติด้านการกินเป็นกลุ่มอาการผิดปกติของพฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างโรคจิตเวชในกลุ่มนี้ เช่น
- โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) ผู้ป่วยจะคิดหมกมุ่นว่าจะต้องรักษารูปร่างให้ผอมบางเสมอ และกลัวน้ำหนักขึ้น แม้บางคนจะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์แล้วก็ตาม
- โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) ผู้ป่วยจะกินปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ และล้วงคอให้อาเจียนเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) ผู้ป่วยจะกินอาหารปริมาณมากในเวลาสั้น ๆ โดยไม่สามารถหยุดกินได้ และจะรู้สึกผิด อาย หรือโกรธตัวเองที่ไม่สามารถหยุดกินได้
6.โรคจิตเภท (Schizophrenia)
จิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง โดยจะมีอาการผิดปกติหลายด้าน เช่น ประสาทหลอน หลงผิด ปลีกตัวจากสังคม ความคิด การตัดสินใจ และการพูด และพฤติกรรมการแสดงออกผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม โดยมักพบในผู้มีอายุ 20 ปีต้น ๆ
7. กลุ่มโรคบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorders)
กลุ่มโรคบุคลิกภาพผิดปกติเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีรูปแบบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในลักษณะที่คงอยู่ยาวนาน จึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างโรคจิตเวชในกลุ่มนี้ เช่น บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) บุคลิกภาพชนิดหลีกเลี่ยงสังคม (Avoidant Personality Disorder) และบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
นอกจาก 7 กลุ่มโรคข้างต้น โรคจิตเวชยังครอบคลุมถึงกลุ่มโรคอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติด้านการนอนหลับ ความผิดปกติทางเพศ การใช้สุราและสารเสพติด รวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการคิด และพัฒนาการทางระบบประสาท เช่น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิสติก
การรับมือกับโรคจิตเวช
โรคจิตเวชหลายโรคไม่สามารถดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา หากปล่อยไว้อาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ และสุขภาพร่างกายในระยะยาว ซึ่งวิธีรักษาผู้ป่วยจิตเวชจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา เช่น ยาต้านเศร้า ยาปรับระดับอารมณ์ให้คงที่ และยารักษาอาการทางจิต ควบคู่กับจิตบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ
ผู้ป่วยโรคจิตเวชหลายคนคิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วย หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษา คนใกล้ชิดจึงควรสังเกต รับฟังความไม่สบายใจ และถามไถ่อาการ โดยใช้คำพูดที่แสดงถึงความห่วงใย ไม่ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกกลัวหรือทำร้ายความรู้สึกเพื่อให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากหรือคิดฆ่าตัวตาย ควรรีบให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
สุขภาพจิตของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางวันมีความสุข อีกวันอาจเศร้าหรือท้อใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้ที่เป็นโรคจิตเวชจะมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมเป็นระยะเวลานาน หรือไม่หายขาด ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง การได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น